27 มีนาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อความทาง Facebook ที่ตั้งข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 โดยอ้างอิงประกาศของสภากาชาดสหรัฐอเมริกา ที่ปฏิเสธการรับบริจาคพลาสม่าจากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว
บทสรุป :
- สาเหตุที่กาชาดสหรัฐฯ ไม่รับบริจาค Convalescent Plasma ของคนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะต้องการได้พลาสม่าจากผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19
- กาชาดสหรัฐฯ ยังคงรับบริจาคโลหิต, เกร็ดเลือด และ AB Elite Plasma จากผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19
- เมื่อ WHO ไม่แนะนำให้ใช้พลาสมาจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โครงการรับบริจาค Convalescent Plasma เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จึงยุติลง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
พลาสม่าคือของเหลวสีเหลืองที่อยู่ในเลือด ประกอบไปด้วยน้ำ, เกลือ, เอนไซม์, แอนติบอดี และสารประกอบโปรตีนอื่น ๆ โดย Convalescent Plasma ของผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 จะอุดมไปด้วยสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีต่อไวรัสโควิด-19 ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่ามีความจำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
แต่ภายหลัง องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงการณ์ ไม่แนะนำให้นำพลาสมาจากเลือดผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 มาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง หลังพบว่าวิธีดังกล่าวไม่ช่วยลดความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและยังมีค่าใช้จ่ายสูง
อย่างไรก็ดี การอ้างว่าสภากาชาดสหรัฐอเมริกาเคยปฏิเสธการรับบริจาคพลาสม่าจากผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะเลือดผู้ฉีดวัคซีนไม่ปลอดภัยเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริง
แม้เว็บไซต์ของสภากาชาดสหรัฐฯ จะประกาศไม่รับบริจาค Convalescent Plasma จากผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่สภากาชาดสหรัฐฯ ยังคงรับบริจาคโลหิต, เกล็ดเลือด รวมถึง AB Elite Plasma (พลาสม่าของผู้มีกรุ๊ปเลือดเอบีซึ่งหายากและสามารถบริจาคให้กับคนทุกกรุ๊ปเลือด) จากผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามปกติ
ส่วนเหตุผลที่สภากาชาดสหรัฐฯ ปฏิเสธการรับบริจาคพลาสม่าจากผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเพราะไม่มีงานวิจัยยืนยันประสิทธิผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จาก Convalescent Plasma ของผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 นั่นเอง
แม้องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) จะออกระเบียบห้ามรับบริจาคพลาสม่าจากผู้รับวัคซีนโควิด-19 แต่ก็มีข้อยกเว้น 3 กรณีที่ผู้รับวัคซีนโควิด-19 สามารถบริจาค Convalescent Plasma ได้ คุณสมบัติดังกล่าวประกอบไปด้วย
1.ผู้บริจาคได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ FDA ว่าเคยมีอาการป่วยจากไวรัสโควิด-19
2.ผู้บริจาคได้รับวัคซีนโควิด-19 หลังตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19
3.ผู้บริจาคหายป่วยจากโควิด-19 ไม่นานเกินกว่า 6 เดือน
ข้อกำหนดด้านคุณสมบัติดังกล่าวมีไว้เพื่อทำให้มั่นใจว่า พลาสม่าของผู้บริจาคที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะยังคงมีแอนติบอดีต่อไวรัสโควิด-19 อยู่นั่นเอง
กระทั่ง WHO ไม่แนะนำการใช้พลาสมาจากผู้หายป่วยจากโรคโควิด-19 มาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โครงการรับบริจาค Convalescent Plasma เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จึงยุติลงในเวลาต่อมา
ข้อมูลอ้างอิง :
https://checkyourfact.com/2021/04/29/fact-check-american-red-cross-plasma-donations-covid-vaccine/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter