ตามที่มีการแชร์คลิป พร้อมข้อความเตือน ห้ามใช้หูฟังบลูทูทใกล้รางรถไฟ นั้น
บทสรุป : ไม่จริง ❌ ไม่ควรแชร์ต่อ
เหตุการณ์ในคลิป เป็นอุบัติเหตุไฟฟ้าช็อตที่ประเทศอินเดีย
ไม่มีหลักฐานหรือการรายงานว่าเกี่ยวกับหูฟังบลูทูท
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่า เหตุการณ์ในคลิป มีการรายงานโดยหลายสื่อในประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วรถไฟ โดยมีสายไฟตกมาพาดโดนศีรษะ ก่อนจะเกิดประกายไฟ และทำให้เขาล้มตกไปที่รางรถไฟ
เหตุการณ์ในคลิป เกิดขึ้นที่ สถานีรถไฟขรรคปุระ รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย โดยสำนักข่าว India Today รายงานบทสัมภาษณ์ของ Mohammad Sujat Hashmi ผู้จัดการการรถไฟในท้องถิ่น กล่าวว่า “เราไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่มีสายไฟตกแต่งบางส่วนที่หล่นลงมา ทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้น” ซึ่งในรายงานไม่ได้กล่าวถึงอุปกรณ์หูฟังบลูทูทแต่อย่างใด
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเผยแพร่เมื่อ 17 มกราคม 2566 ยังระบุรายงานถ้อยคำของตัวแทนคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันรังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน (ICNIRP) ว่า ยังไม่พบรายงานว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของอุปกรณ์บลูทูท (RF EMFs) สามารถรบกวนสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากรถไฟ (EMFs) ได้ และทั้งสองต่างอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่ปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน
ด้านอาจารย์สืบศักดิ์ สืบภักดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ข้อมูลกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าโดยทั่วไปแม้อุปกรณ์สื่อสารหรือสายส่งไฟฟ้าจะมีการแผ่สนามแม่เหล็กหรือเกิดการเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าได้ ดังที่อาจเห็นปรากฏการณ์กันอยู่บ้าง อาทิ ประจุไฟฟ้าบนสายไฟฟ้าแรงสูงที่กระโดดข้ามลูกถ้วย หรือสายส่งเอง แต่การเกิดปรากฏการณ์เหล่านั้น มักเกิดบนเงื่อนไขและปัจจัยที่ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง
กรณีการใช้อุปกรณ์สื่อสารใกล้สายส่งไฟฟ้าในระบบรถไฟ ที่ใช้ไฟฟ้าและเกิดอันตราย เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมากในสภาวะปกติ กล่าวคือ อุปกรณ์สื่อสารอาทิ หูฟังบลูทูท หรือแม้แต่ตัวโทรศัพท์มือถือไม่ได้สร้างสนามพลังเหนี่ยวนำทางไฟฟ้ามากมายอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดหูฟัง ที่ใช้เทคโนโลยีบลูทูท ก็ออกแบบให้ใช้พลังงานต่ำ และปัจจุบันชิ้นส่วนในการเป็นโละหะก็น้อยมาก
ในส่วนระบบสายส่งไฟฟ้า ของรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าหรือที่เรียกว่ารางที่ 3 ก็เช่นกัน แม้จะส่งด้วยแรงดันไฟตรง 750 โวลต์ แต่โดยทั่วไปในสภาวะปกติก็แทบไม่สามารถเหนี่ยวนำไปทำอันตรายหรือไปยังอุปกรณ์ใกล้เคียงได้ ซึ่งมีทั้ง ผู้ใช้บริการรถไฟ อุปกรณ์ที่เป็นโลหะโดยรอบ หรือกับตัวรถไฟเอง ทั้งยังมีมาตรการเเละมาตรฐานควบคุมความปลอดภัยที่เข้มงวดทั้งผู้ผลิตและในขั้นตอนการให้บริการ
กรณีตามภาพข่าวไม่ได้ระบุรายละเอียดหรือปัจจัยอื่น และไม่เห็นภาพโดยรวมทั้งหมดของเหตุการณ์ อาทิ การมีสายไฟฟ้าพาดผ่านใกล้แค่ไหน หรือเป็นไฟฟ้าจากระบบใด การมีน้ำนองที่พื้นหรือไม่ หรือการมีเหตุของการเหนี่ยวนำอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ใช่หูฟังบลูทูท ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย
ดังนั้นการใช้อุปกรณ์สื่อสารในปัจจุบันซึ่งถือว่ามีการเหนี่ยวนำและใช้กำลังสนามแม่เหล็กจากการส่งคลื่นต่ำทั้งหูฟังหรือตัวโทรศัพท์เอง มีความปลอดภัยมากพอสำหรับการใช้งานในสภาวะแวดล้อมปกติแม้จะเป็นบนสถานีรถไฟฟ้า หรือใกล้ตัวรถไฟ
แต่ทั้งนี้การเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าเป็นปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่น ๆ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ทางไฟฟ้าที่บกพร่องได้
13 มีนาคม 2567
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์ และ เสาวภาคย์ รัตนพงศ์
อ้างอิง
ข้อความที่แชร์กัน
*หลีกเลี่ยงการใช้หูฟัง BLOOT ใกล้รางปลั๊กไฟ ข้อมูลนี้มีความสำคัญมาก หากคุณได้ยินสิ่งนี้ โปรดสละเวลาสักครู่เพื่อส่งข้อความนี้ถึงลูกชาย ลูกสาว หรือพี่น้องของคุณที่เล่นหูฟังบ่อยๆ โอเคไหม? โดยเฉพาะคนที่นั่งรถไฟฟ้า..🙏🏻🙏🏻 เมื่อเปิดชุดหูฟัง Bluetooth 🎶 บนโทรศัพท์มือถือของคุณ จะมีกระแส ⚡️⚡️⚡️ ส่ง/เหนี่ยวนำ จากสายไฟฟ้าแรงสูงบนรางรถไฟเข้าถึงโดยตรงผ่าน หูและเข้าสู่สมอง.. …จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? ? ? *หลีกเลี่ยงการใช้บลูทูธบนชานชาลาฝั่งรถไฟเมื่อขับรถและยืนใกล้ช่องทางรถไฟฟ้า*⚠️📵
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter