โรคตายอดฮิตในผู้สูงวัยมีอะไรบ้าง จะสังเกต ป้องกันและเฝ้าระวังได้อย่างไร
🎯 ตรวจสอบกับ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
ผู้สูงอายุและคนที่อายุเกิน 60 ปี หรือหลังเกษียณไปแล้วก็จะเริ่มมีปัญหาดวงตาที่เกิดจากความเสื่อมตามสภาพการใช้งาน
โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ สายตายาว ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม
สายตายาว
ภาวะสายตายาวจะพบบ่อยที่สุด คือหลังอายุ 40-50 ปีไปแล้ว ความสามารถในการเพ่งลดลง จำเป็นต้องยื่นหนังสือออกไปห่างหรือจำเป็นต้องมีแว่นสายตายาว ก็จะทำให้สามารถกลับมามองเห็นตัวหนังสือได้
โรคต้อกระจก
ที่พบบ่อยที่สุดและเป็นทุกคน คือการเสื่อมของเลนส์ตาที่ความใสจะลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุ ทำให้เลนส์แก้วตามีลักษณะขุ่นขาวเหมือนกระจกฝ้า คนทุกคนจำเป็นต้องเป็นโรคต้อกระจก คือการมองเห็นจะมัวเป็นหมอก
โดยทั่วไปมักจะเริ่มที่อายุ 60 กว่าขึ้นไป 70-80 ต้องได้รับการรักษาด้วยการสลายต้อและเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมใหม่ก็จะกลับมามองเห็นได้
ต้อหิน
โรคที่มีความสำคัญและอันตรายมาก ๆ ในวัยสูงอายุ คือโรคต้อหิน ซึ่งเป็นสาเหตุตาบอดอันดับ 1 ของคนไทยและคนทั้งโลกที่แก้ไขไม่ได้ จำเป็นต้องเฝ้าระวัง เพราะผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัว
หลังจากอายุ 50-60 ปีไปแล้วควรจะต้องไปตรวจวัดความดันในลูกตา เพราะว่าความดันในลูกตาที่สูงจะไปกดขั้วประสาทตาทำให้มีการเสื่อม จำเป็นต้องไปตรวจคัดกรองโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
จอประสาทตาเสื่อม
จอประสาทตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่ทำงานค่อนข้างหนัก เมื่อเราลืมตาแสงก็จะเข้าไปสัมผัสกับบริเวณจอประสาทตา ตลอดเวลาที่เราตื่นมีการทำงานมาตลอด หลังจากอายุ 70-80 ปีไปแล้วก็อาจจะทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นแย่ลง และมีอาการมองเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือมองเห็นภาพแหว่งไป หรือเห็นเหมือนมีม่านดำ ๆ มาบังเป็นบางพื้นที่ของการเห็น แสดงว่าเริ่มมีปัญหาจอประสาทตาเสื่อม จำเป็นที่จะต้องรีบไปพบจักษุแพทย์
นอกจากนี้ สำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง ก็ควรจะต้องได้รับการตรวจจอประสาทตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อจะเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นที่บริเวณดวงตาได้
ปัญหาโรคตาในผู้สูงอายุ รักษาได้หรือไม่ ?
โรคตาส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุสามารถรักษาให้หายได้ หรือกลับมาเป็นปกติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทราบตั้งแต่ระยะต้น
ถ้ามีอาการผิดปกติของดวงตาแนะนำว่าควรจะรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถทำให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติได้
ดังนั้น ควรมีการทดสอบสายตาในผู้สูงอายุเป็นประจำทุก 1 เดือน หรือ 2 สัปดาห์ ควรจะต้องมีการทดสอบการมองเห็นของทั้ง 2 ตา โดยการนำปฏิทินหรือตัวหนังสือไปติดที่ระยะห่างจาก 6 เมตร (20 ฟุต) เหมือนเวลาไปพบจักษุแพทย์ และทดสอบโดยการใช้มือบังตาทีละข้างว่าเรามองเห็นชัดเท่ากันหรือไม่ ถ้าตาข้างใดข้างหนึ่งเห็นน้อยกว่าตาอีกข้าง ก็อาจเป็นอาการเตือนถึงความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นและจำเป็นที่ต้องรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที
กรณีที่มีสายตายาวหรือต้อกระจกระยะแรก การปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น อ่านหนังสืออยู่ในห้องที่มีแสงไฟสว่างเพียงพอ หรือการใช้จอมือถือที่ไม่มืดจนเกินไป หรือสว่างจนเกินไป
ในขณะเดียวกัน แสงและความสว่างของห้องที่ใช้มือถือหรือแท็บเล็ตก็ไม่ควรอยู่ในที่มืด ก็จะช่วยให้ความสามารถในการมองเห็นระยะใกล้ดีขึ้น และปัญหาสายตายาวลดลงได้ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจจะทำอันตรายจากดวงตามากขึ้น เช่น ลม ฝุ่น และแสงแดดจ้า ๆ หรือแสงอัลตราไวโอเลต ก็จะช่วยทำให้การเสื่อมของดวงตาช้าลง ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุที่จะใช้ดวงตาอย่างถูกวิธีและป้องกันการเสื่อมก่อนวัยอันควรได้
ดูเพิ่มเติมจาก ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ปัญหาโรคตาในผู้สูงอายุ
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter