🎯 ตรวจสอบกับ รศ.นพ.ประจักษ์ ศรีรพีพัฒน์ หัวหน้าสาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
“น้ำคั่งในโพรงสมอง” เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมองในผู้สูงอายุ
จริง ๆ เรารู้จักโรคนี้มานานมากแล้ว (ประมาณ 60 ปี)
ความจริงในอดีตก็คือ ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่ง มีการเดินที่ผิดปกติ ลักษณะการเดินจะคล้าย ๆ กันหมด หลังค่อม ๆ เดินช้าลง ก้าวเท้าสั้น ๆ ซอยเท้า ยกเท้าไม่ค่อยสูง การคิดแย่ลง การตัดสินใจแย่ลง ความสามารถในการใช้สมองเดิม ๆ ของเขาแย่ลงไป และรวมถึงกลุ่มอาการอารมณ์เปลี่ยนแปลงด้วย กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด อารมณ์ค่อนข้างเกรี้ยวกราด
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าในผู้ป่วยกลุ่มเดียวกันมีปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะ
บังเอิญว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการไปเจาะโพรงน้ำเลี้ยงสันหลังออกมาตรวจ และเป็นการระบายน้ำไขสันหลังออกไปในตัว ปรากฏว่าระบบดีขึ้น ซึ่งเป็นการพบโดยบังเอิญ
หลังจากสืบค้นมาเรื่อย ๆ จึงเกิดแนวคิดของการเกิดโรคนี้ ดังนั้นการรักษาจึงกลายเป็นการใส่ตัวระบายน้ำนั่นเอง เพราะว่าเมื่อมีการระบายน้ำออกมาทำให้อาการดีขึ้น
โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง เป็นความเสื่อมตามวัย ?
ความเสื่อมตามวัยเริ่มต้นที่สมอง เพราะสมองคนอายุมากมีการหดตัวเหมือนกับผิวหนังของเรา
สมองก็คือเนื้อเยื่อ น้ำในเนื้อเยื่อก็จะลดน้อยลงไปตามวัย เมื่อสมองหดตัวโพรงน้ำก็ใหญ่ขึ้น
โพรงน้ำที่ใหญ่ขึ้น มีคนให้สมมติฐานว่า แรงตึงผิวของโพรงน้ำที่ใหญ่ขึ้นนั่นแหละเปลี่ยนแปลง
ความดันไม่เปลี่ยนจึงเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษว่า “NPH” (Normal Pressure Hydrocephalus)
ภาษาไทยใช้ว่า “ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองชนิดแรงดันปกติ”
เนื่องจากแรงดันโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยน แต่แรงตึงที่ผิวเปลี่ยน จึงเป็นโรคของความเสื่อมที่มาส่งผล เพราะว่าสมองของเรามีหลายหน้าที่ เช่น ตาเสื่อม (เห็นวุ้นในตาขุ่น ๆ)
การเสื่อมทางกายภาพส่งผลทำให้การทำงานผิดเพี้ยน แต่เนื่องจากสิ่งที่รับผิดชอบมีมากกว่าการเดิน มากกว่าความจำ มากกว่าการกลั้นปัสสาวะ สิ่งที่แสดงออกมาจึงมีหลายกลุ่มอาการเหลือ นี่แหละโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง
สาเหตุของโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง คืออะไร
ปัจจุบัน ยังไม่มีใครรู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร รู้แต่ว่าไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม ไม่มีลักษณะของการถ่ายทอดใด ๆ เป็นลักษณะเฉพาะ แต่จะเกิดในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ
สิ่งเดียวที่ค้นพบว่าเป็นความจริงเสมอ คือ เมื่อไหร่อายุมากขึ้น (อายุ 80 ขึ้นไป) ก็ยิ่งพบได้มากขึ้น
ในต่างประเทศ (ญี่ปุ่น) มีการศึกษาล่าสุด พบจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นไปถึง 7-8%
ดังนั้น ถ้ามองว่าเป็นโรคความเสื่อมอย่างหนึ่ง ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง
โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง เหมือนกับโรคสมองเสื่อมหรือไม่
“น้ำคั่งในโพรงสมอง” ไม่ใช่เรื่องของเซลล์เสื่อมสภาพนำมาก่อน แตกต่างจากกลุ่มโรคอัลไซเมอร์หรือพาร์กินสัน กลุ่มนั้นเซลล์เสื่อมสภาพ ณ จุดใดจุดหนึ่ง จึงมีอาการจุดใดจุดหนึ่ง ต่างกับอาการที่กระจัดกระจาย
ปัจจุบัน พบอาการกว้างขึ้นมาก น่าจะหมายถึงการทำงานของสมองในทุกระบบก็เป็นได้ ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากเคมีหรือกลุ่มเซลล์ใด ๆ ที่เสื่อม ถึงจะให้สารบางอย่างออกมาแปลก ๆ แต่เกี่ยวกับกายภาพบางอย่าง เพราะวินิจฉัยโดยการใช้ภาพ แล้วก็วินิจฉัยโดยการเจาะหลังทดสอบเอาน้ำออก ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของปริมาณและแรงดันต่างหาก มีการพิสูจน์ตัวเองมากว่า 50 ปีแล้ว จึงน่าจะเป็นความเสื่อมของระบบกายภาพ แต่ส่งผลทำให้สรีรวิทยาคือการทำงานของสมองผิดเพี้ยนไป
อาการสัญญาณโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง
พบว่ามีกลุ่มอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง แต่มาในห้วงเวลาที่เจาะจงใกล้ ๆ กัน
1. ผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งเสี่ยงสูง
ค่าเฉลี่ยของอายุผู้ป่วยที่มีการศึกษาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 70 กว่าปี แต่ความเห็นของผม 60 กว่าปียังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้า 70 กว่าปีเสี่ยงแล้ว
2. การเดินช้าลง ดูช้า ๆ แปลกหูแปลกตา
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในระยะแรก ๆ อาการไม่สม่ำเสมอ บางวันจะเดินดีกว่าบางวัน บางวันจะแย่กว่าบางวัน บางครั้งดูเหมือนผู้ป่วยแกล้ง เดี๋ยวก็เคลื่อนไหวคล่องแคล่วและมีความกระตือรือร้น เดี๋ยวก็ดูเฉื่อย ๆ ไป บางวันก็นั่งหลับ บางวันก็ไปเที่ยวไหนได้ การเดินบางวันไม่ดีเลย แต่บางวันทำไมเดินปกติดี
ถ้าติดตามผลไปสักระยะหนึ่ง พบว่าห้วงเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีผู้ป่วยจะเปลี่ยนแปลงชัดเจน แต่เนื่องจากคนใกล้ตัวเห็นอยู่ทุกวัน อาจจะไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็จะคิดว่าผู้ป่วยค่อย ๆ เปลี่ยนอย่างนี้ หลัง ๆ จะเริ่มแย่ลงถี่ ๆ เมื่อถึงจุดที่แย่ลงจะเห็นชัดตอนนั้น
3. ล้ม การเดินผิดปกตินำไปสู่การล้ม การเดินน้อย ไม่ยอมเดิน ทรงตัวแล้วล้ม
การทรงตัวที่ล้ม แม้กระทั่งการนั่งยังทรงตัวไม่ได้ หรือนั่งหลังค้อม ในที่สุดศีรษะจะทิ่มลงไปกับพื้น ร่วงหล่นลงจากเก้าอี้ ไม่ใช่จากการนั่งหลับ แต่เกิดจากไม่สามารถควบคุมการทรงตัวของตัวเองได้ ดังนั้น จะตามมาด้วยผลทั้งหมดของการล้ม เพราะจะพบปัจจัยร่วมเกือบทุกราย ไม่มีประวัติล้มมาก่อน แต่จะล้มซ้ำซากในช่วงหลัง ๆ
4. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ส่วนใหญ่จะนำมาด้วยการปัสสาวะบ่อย ๆ กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยทัน และในที่สุดก็ถึงขั้นกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เลย
5. อารมณ์หงุดหงิด
อารมณ์ก็เกี่ยวข้อง อาการทางจิตพบได้ร้อยละ 70-80 ในผู้ป่วยของต่างประเทศ
6. การกลืน และอาการสำลัก
กลุ่มอาการ “กลืน สำลัก ออกเสียง” พบว่าเกี่ยวข้องกับน้ำคั่งในโพรงสมอง มีการศึกษาแห่งแรกที่ศิริราชและตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ต่างประเทศ จากการพบหลักฐานย้อนหลังและนำมาศึกษาต่อไปข้างหน้า
กลุ่มผู้ป่วยโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง แทนที่จะคิดว่า เดินไม่ดี ฉี่กลั้นไม่อยู่ ความจำเสื่อม
ต้องคิดใหม่แล้ว นั่งไหนหลับนั่น เสียงแหบเบา ดื่มน้ำสำลัก ไอบ่อย ๆ กลางคืนสำลักน้ำลาย กลืนอะไรลำบาก อมอาหาร นั่งหลับคาโต๊ะอาหาร เหล่านี้พบว่าใช่หมดเลย
ทำไมถึงพูดว่าใช่หมด เพราะหลังจากการรักษาหรือการเจาะหลังทดสอบ อาการเหล่านี้หาย ข่าวดีก็คือหายเร็วกว่าอาการเรื่องการเดิน หายเร็วกว่าความจำ กลายเป็นว่าอาการที่พบในช่วงหลัง เป็นตัวชี้วัดความเป็นความตายของผู้ป่วยมากกว่าการกลั้นปัสสาวะ มากกว่าสำลักอาหาร เวลานอนหลับสำลักน้ำลายจนตื่น แน่นอนว่าสำลักและตามมาด้วยปอดบวมหรือปอดอักเสบ ตอนนั้นเป็นเรื่องใหญ่แล้ว
มีอาการเหล่านี้ เป็นคนอายุมาก เดินช้า ซอยเท้า ก้าวสั้น ไปห้องน้ำไม่ทัน กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ อารมณ์เปลี่ยน การนอนเปลี่ยน พูดน้อย สำลักบ่อย เสียงแหบพร่า ทุกอย่างดูช้า ๆ คิดถึงโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง
ดูเพิ่มเติม รายการชัวร์ก่อนแชร์ : https://www.youtube.com/watch?v=zlEKtOtfYrQ&t=13s
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter