16 สิงหาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
- ไม่มีหลักฐานว่าช่างภาพที่ถ่ายภาพเด็กชายเมืองนางาซากิได้สนทนากับเด็กชาย
- มีหลักฐานว่าประโยค He’s not heavy; He’s my brother ถูกใช้มาตั้งแต่ปลายศวรรษที่ 19 ก่อนจะดัดแปลงเป็นเพลงดังในยุค 60-70
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ ที่อ้างว่าเด็กชายผู้แบกร่างไร้วิญญาณของน้องชายเอาไว้บนหลังแห่งเมืองนางาซากิ คือเจ้าของประโยค He’s not heavy, he’s my brother! (ตัวเขาไม่หนัก เขาคือน้องชายผม) จนกลายเป็นแรงบันดาลใจของเพลงดังในทศวรรษที่ 1960’s ในเวลาต่อมา
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ผู้โพสต์เล่าว่า เด็กชายในภาพถ่ายกำลังเตรียมนำร่างไร้วิญญาณของทารกไปฝัง เมื่อทหารนายหนึ่งได้มาพบ จึงแนะนำให้เด็กชายวางร่างของทารกลง เขาจะได้ไม่เหนื่อยเกินไป แต่เด็กชายกลับตอบว่า “ตัวเขาไม่หนัก เขาคือน้องชายผม” ทหารนายนั้นจึงรับรู้ความตั้งใจอันแน่วแน่ของพี่ชาย และหลั่งน้ำตาด้วยความสะเทือนใจ
อย่างไรก็ดี บันทึกจากช่างภาพกลับมีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับเรื่องราวที่ผู้โพสต์กล่าวอ้าง
ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นผลงานของ โจ โอ’ดอนเนลล์ ช่างภาพที่ทำงานให้กับเหล่านาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับมอบหมายให้ไปบันทึกความเสียหายของเมืองนางาซากิในช่วงเดือนกันยายนปี 1945
ภาพดังกล่าวเป็นที่รู้จักในชื่อ The Boy Standing by the Crematory (เด็กชายข้างเชิงตะกอน) หรือ The Standing Boy of Nagasaki (เด็กชายผู้ยืนหยัดแห่งนางาซากิ)
จากบันทึกของ โจ โอ’ดอนเนลล์ เล่าว่า วันนั้นเขาได้เห็นเด็กชายเดินผ่านมาพร้อมกับแบกทารกเอาไว้บนหลัง ภาพเด็กแบกน้องเอาไว้บนหลังพบเห็นได้ทั่วไปในญี่ปุ่นยุคนั้น แต่เด็กชายคนนี้แตกต่างจากคนอื่น ๆ เขามาด้วยเจตจำนงที่แน่วแน่ เขาไม่สวมรองเท้า ใบหน้าสงบนิ่ง ศีรษะของทารกเอนไปข้างหลังเหมือนกำลังหลับใหล ขณะที่พี่ชายยืนรออย่างเงียบ ๆ เป็นเวลา 5-10 นาที
ชายที่สวมหน้ากากสีขาวเดินไปหาเด็กชาย แล้วค่อย ๆ ดึงสายที่รั้งตัวทารกออก จึงได้รู้ว่าทารกผู้นั้นคือศพของน้องชายที่เตรียมนำไปเผา ชายสวมหน้ากากอุ้มศพทารกด้วยการจับมือและขาทั้งสองข้าง แล้วนำร่างไปทำพิธีฌาปนกิจ ขณะที่พี่ชายยังยืนตรงไม่ไหวติง ดวงตาจ้องมองไปที่กองเพลิง เลือดจากริมฝีปากเริ่มไหลจากแรงขบเพื่อระงับอารมณ์ที่โศกเศร้า เปลวไฟเริ่มดับมอดดั่งอาทิตย์อัสดง เด็กชายหันหลังและเดินจากไปอย่างเงียบ ๆ
ในบันทึกของ โจ โอ’ดอนเนลล์ ไม่มีหลักฐานว่าเขาและเด็กชายได้พูดคุยกันแต่อย่างใด ข้ออ้างเรื่องที่มาของบทสนทนาจึงไม่เป็นความจริง
“ตัวเขาไม่หนัก เขาคือน้องชายผม” มาจากประโยคภาษาอังกฤษ He’s not heavy; He’s my brother ซึ่งมีบันทึกว่าถูกใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก่อนมีการดัดแปลงเป็นเพลงบัลลาร์ดสุดฮิตในปี 1969-1970 โดยวง The Hollies และ นีล ไดมอนด์ ในชื่อเพลง He Ain’t Heavy, He’s My Brother
โจ โอ’ดอนเนลล์ ทำสำเนาภาพถ่ายที่เมืองนางาซากิและเก็บเอาไว้ในหีบส่วนตัวเป็นเวลานานหลายปี ก่อนจะนำภาพถ่ายมาประกอบการตีพิมพ์หนังสือ O’Donnell’s Japan 1945, Images From the Trunk ในปี 1989 เมื่อฉบับภาษาญี่ปุ่นได้รับการแปลในปี 1995 ผลงานก็ได้รับความนิยมในวงกว้าง เช่นเดียวกับความโด่งดังของภาพถ่าย The Boy Standing by the Crematory
มีความพยายามตามหาตัวตนของเด็กชายในรูปภาพ แต่การค้นหาต้องพบกับความล้มเหลวทุกครั้ง โดยปี 2020 สถานีโทรทัศน์ NHK ได้ผลิตสารคดีความยาว 50 นาทีเรื่อง Searching for the Standing Boy of Nagasaki เพื่อย้อนรอยการตามหาเด็กชายในรูปภาพ และบอกเล่าชีวิตอันยากลำบากของบรรดาเด็กกำพร้าในช่วงสงคราม
ข้อมูลอ้างอิง :
https://fullfact.org/online/photo-japan-boy-soldier-brother/
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Boy_Standing_by_the_Crematory
https://en.wikipedia.org/wiki/He_Ain%27t_Heavy,_He%27s_My_Brother
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter