🎯 บนสื่อสังคมออนไลน์ มีการแชร์ภาพและคำเตือนว่า ยื่นจอเมื่อเด็กงอแง ใช้ได้จริงหรือ ?
📌 บทสรุป : ✅ ชัวร์ แชร์ได้ มีคำอธิบายเพิ่มเติม ✅
👉 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญ ศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การทำให้เด็กหยุดร้องไห้ด้วยการยื่นจอให้เด็ก เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอารมณ์ขุ่นมัว เป็นวิธีแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ระยะยาวแก้ไม่ได้ ซ้ำร้ายอาจส่งผลทำให้เด็กคนนั้นไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้
ปัจจุบัน เวลาเห็นเด็กร้องไห้งอแงไม่พอใจ พ่อแม่จำนวนมากจะหยิบยื่นสื่อหน้าจอให้ มีส่วนหนึ่งยื่นให้แล้วเปิดทันทีเด็กก็จะหยุดร้อง นั่นคือเรากำลังเบี่ยงเบนความสนใจจากอารมณ์ขุ่นมัวของเด็กไปอยู่ที่หน้าจอ ทำให้พ่อแม่เห็นว่าสื่อหน้าจอมีข้อดี จึงใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ
👉 การยื่นจอ เกิดผลเฉพาะหน้า แต่ระยะยาวเด็กควบคุมตัวเองไม่ได้
การยื่นจอให้เด็กจะใช้ได้ผลในระยะสั้น แต่เป็นการบ่มเพาะทำให้เด็กควบคุมตัวเองไม่ได้ระยะยาว
ปัจจุบัน เริ่มมีข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่าถ้าพ่อแม่ใช้สื่อหน้าจอเพื่อจะทำให้เด็กสงบ กลับกลายเป็นว่าลูกมีโอกาสที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้สูงมากขึ้น
จากข้อมูลนี้ สรุปว่าการใช้สื่อหน้าจอเพื่อให้เด็กสงบอาจทำให้เด็กขาดโอกาสเรียนรู้วิธีที่จะทำอย่างไรให้ตัวเองสงบได้
👉 ทำอย่างไร พ่อแม่ไม่ต้องยื่นจอให้เด็ก
ถ้าไม่มีจอ พ่อแม่ต้องเบี่ยงเบนความรู้สึกไม่พอใจ เช่น พาลูกนับ 1-10 หรือประเด็นที่พบบ่อยคือใช้วิธีสะท้อนอารมณ์เด็ก ๆ ได้ โดยเฉพาะถ้าลูกเข้าใจคำศัพท์เรื่องอารมณ์มากขึ้นแล้ว อาจจะบอกได้เลย อ๋อ! ลูกกำลังโกรธอยู่ การพูดเหล่านี้ ไม่ได้พูดแล้วลูกจะสงบทันที แต่พูดแล้วลูกจะรับรู้ว่าพ่อแม่รู้สึกอย่างไร เรากำลังจะสอนลูกใหม่ว่าเวลาอารมณ์ไม่ดี เราไม่มีการพูดแรง ๆ ใส่กัน แต่กำลังรออารมณ์สงบแล้วค่อยมาคุยกัน
บางบ้านพยายามสอนลูก หากิจกรรมอย่างอื่นให้ลูก เช่น เวลาโกรธมาปั้นดินน้ำมัน ทำสิ่งประดิษฐ์ด้านศิลปะ เอามือจุ่มสีตามความโกรธ ถ้าโกรธอันไหนใช้สีอะไร จะทำให้เด็กเรียนรู้การควบคุมกำกับตัวเองด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้สื่อหน้าจอ
👉 ถ้าเด็ก “ร้องโวยวาย อาละวาด” อะไรคือสิ่งที่ควรทำ ?
1. พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองก่อน หลายครั้งที่พ่อแม่คุมอารมณ์ได้ดีจะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น
2. พยายามสะท้อนอารมณ์ คาดเดาอารมณ์ลูก ณ ตอนนั้น เช่น หนูกำลังโกรธเพราะไม่ได้กินอันนี้
3. ตอนที่ลูกอารมณ์ไม่ดี อย่าพยายามอธิบายมาก เพราะว่าสมองส่วนอารมณ์เหนือกว่าสมองส่วนความคิดเหตุผล พ่อแม่ต้องรอให้อารมณ์สงบและสมองส่วนเหตุผลจะทำงานมากขึ้น
4. จำเป็นต้องรอให้ลูกสงบ ถ้าเด็กเล็กก็คือเบี่ยงเบนนความสนใจไปอย่างอื่นก็จะช่วยลดความรู้สึกหงุดหงิดไม่สบายใจได้
5. อาจจะต้องซ้อมกับเด็กบ่อย ๆ ว่าถ้าไม่พอใจ หงุดหงิด อารมณ์เสีย พ่อแม่จะทำอย่างไรได้บ้าง
6. พ่อแม่จำเป็นต้องวิเคราะห์พฤติกรรมเหล่านั้น เพราะทุกพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เช่น ร้องโวยวาย อาละวาด มักจะมีที่มาก่อนหน้านั้นเกิดจากอะไร
ดังนั้น ต้องป้องกันทันที พ่อแม่จะต้องคุยตกลงกันว่าวันนี้ไปห้างฯ เพื่อทำสิ่งนี้ ไม่ได้แวะตรงนั้น เป็นการบอกล่วงหน้า ก็คือการสอน การเตรียมก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เหล่านั้น
👉 วิธีการยื่นจอเป็นวิธีที่ง่าย ทำแล้วเห็นผลทันที
มีสิ่งที่อยากจะเชิญชวนให้พ่อแม่กลับมาคิดทบทวนว่าตั้งแต่ใช้วิธีนี้ การควบคุมอารมณ์ของลูกดีขึ้นจริงหรือเปล่า
โดยธรรมชาติ ลูกยิ่งโตขึ้นลูกต้องควบคุมอารมณ์ได้ดี แต่ถ้าวันนี้ลูกกลับควบคุมอารมณ์ได้แย่ลง ต้องกลับมาทบทวนแล้วว่าการใช้สื่อหน้าจอเพื่อทำให้เด็กสงบหรือควบคุมอารมณ์ตัวเอง อาจจะไม่ใช่คำตอบเพียงอย่างเดียว หรือว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด
ให้ความเข้าใจ ด้วยความเข้าใจ ช่วยให้เกิดความเข้าใจในครอบครัว
ดูเพิ่มเติมจากรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ยื่นจอเมื่อเด็กงอแง ใช้ได้จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter