🎯 ชัวร์ก่อนแชร์ : ติดจอ ทำให้เด็กเป็นออทิสติก จริงหรือ ?
📌 บทสรุป : ✅ ชัวร์ แชร์ได้ มีคำอธิบายเพิ่มเติม ✅
👉 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญ ศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
👉 เรื่องเด็กติดจอเสี่ยงเป็นออทิสติก มีความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ จากข้อมูลงานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กที่ใช้สื่อหน้าจอจำนวนมากและใช้เร็ว มีความสัมพันธ์กับการวินิจฉัยพฤติกรรมคล้ายออทิสติก ขณะเดียวกัน เด็กออทิสติกก็สัมพันธ์กับการใช้สื่อหน้าจอเพิ่มขึ้น
👉 “ออทิสติก” เป็นโรคของระบบประสาทและพัฒนาการ อาการค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นในภายหลัง
อาการหลัก ๆ ของเด็กออทิสติกคืออยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมไม่ค่อยมองหน้า ไม่สบตา เรียกชื่อไม่ค่อยหัน ใช้ภาษาท่าทางไม่มาก สิ่งสำคัญคือเด็กกลุ่มนี้พูดสื่อสารล่าช้าและมีภาษาของตัวเอง
นอกจากนี้ มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ ชอบเล่นอะไรที่มีลักษณะหมกมุ่น เด็กบางคนมีพฤติกรรมชอบสะบัดมือหรือหมุนตัว กรณีที่เป็นมากอาจจะทำร้ายตัวเอง
👉 โอกาสที่แพทย์จะวินิจฉัยเด็กที่มีภาวะออทิสติกได้ก่อนอายุ 1 ขวบ ค่อนข้างจะยาก เพราะอาการจะยังไม่ค่อยปรากฏให้เห็นชัดเจน แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกต พบว่าส่วนใหญ่จะได้รับการวินิจฉัยประมาณ 1-3 ขวบ หรือ 4 ขวบ
ถ้าเด็กถูกเลี้ยงดูในบ้านที่เปิดสื่อทิ้งไว้ โดยที่เด็กไม่ได้ดู หรือให้เด็กดูสื่อหน้าจอเหล่านี้มาก พบว่าเด็กที่พ่อแม่ให้ดูสื่อหน้าจอปริมาณมาก ๆ อาจจะยิ่งเร่งปฏิกิริยา ทำให้ตัวเด็กเองซึ่งมีความเสี่ยงเป็นออทิสติกอยู่แล้ว มีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมไปทางเด็กออทิสติก และ/หรือถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติกมากขึ้น
👉 เด็กไม่เป็นออทิสติก ติดจอมาก มีอาการเสมือนออทิสติก หรือ Virtual autism
ปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่ได้บรรจุ “ออทิสติกเทียม” เข้าไปอยู่ในเกณฑ์นั้น
หลายครั้งเด็กที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกเทียมหรือคล้าย ๆ ออทิสติก ที่จริงแล้วเขามีอาการออทิสติกบางส่วน เพียงแต่อาจจะยังไม่ครบตามเกณฑ์วินิจฉัยชัดเจน ซึ่งหลายคนมีประวัติว่าใช้สื่อหน้าจอมาก จำเป็นต้องลดหรือปิดสื่อหน้าจอเหล่านี้
มีเด็กหลายคนที่พ่อแม่ปิดสื่อหน้าจอ ปรากฏว่าพฤติกรรมเด็กที่อยู่ในโลกส่วนตัวลดลงและหันมาสนใจพ่อแม่มากขึ้น และเด็กจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มแรก รวมไปถึงหลายคนต้องได้รับการฝึกอะไรต่าง ๆ ร่วมด้วย จะยิ่งช่วยให้อาการหรือภาวะออทิสติกดีขึ้นได้
👉 กรณีของเด็กที่มีภาวะออทิสติกอยู่แล้ว “การดูหน้าจอ” จะยิ่งทำให้อาการเด่นชัดถดถอย
“ภาวะออทิสติกถดถอย” พบในเด็กที่เคยมีพัฒนาการดีมาก่อน เช่น มองหน้าสบตา ธุจ้า บ๊ายบาย ชี้นิ้ว พูดบอกอะไรต่าง ๆ ได้ ปรากฏว่าหลังจากนั้นกลับทำไม่ได้ มีพฤติกรรมแยกตัวไปอยู่ในโลกส่วนตัวมากขึ้น เด็กกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งเมื่อถามประวัติย้อนหลัง พบว่าเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูมาก และการใช้สื่อหน้าจอที่เปิดทิ้งไว้ แล้วให้เด็กเล่นเอง ก็ส่งผลให้เร่งปฏิกิริยาของการเป็นออทิสติกถดถอยมากขึ้น
👉 สิ่งที่พ่อแม่ควรปฏิบัติ เพื่อป้องกัน “ออทิสติก”
ถ้าก่อน 3 ขวบ ลูกยังไม่เป็นออทิสติก พ่อแม่ควรเลี้ยงดูเด็กให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก ผ่านการเล่น ร้องเพลง เล่านิทานตามวัยกับเด็ก และใช้สื่อหน้าจอให้น้อยหรือพยายามไม่ใช้เลย โอกาสเป็นออทิสติกจะน้อยลง
การใช้สื่อหน้าจอไม่เหมาะสม ใช้สื่อหน้าจอเร็ว ติดสื่อหน้าจอมาก โอกาสมีพฤติกรรมคล้ายเป็นออทิสติกหรือเป็น “ออทิสติกเทียม” นั่นเอง
พ่อแม่ต้องรู้ว่าเรื่องนี้มีจริง และต้องพยายามปิดและลดการใช้สื่อหน้าจอ เน้นการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัย 2-3 ขวบ
แม้บางสิ่ง เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่รับได้ แต่ก็อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กได้เช่นกัน
ดูเพิ่มเติมจากรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ติดจอ ทำให้เด็กเป็นออทิสติก จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter