เปิดบันทึกกิจกรรม “นักสืบสายชัวร์ X ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST”

นักสืบสายชัวร์ X ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST คืออะไร?

“นักสืบสายชัวร์ x ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST” เป็นโครงการที่ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อสร้างความรู้เท่าทันข้อมูลเท็จและภัยไซเบอร์ให้แก่ประชาชน โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากโครงการ “นักสืบสายชัวร์” ที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลายปี


ปักหมุดกิจกรรมครั้งแรกที่ “พัทยา”

เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่หมุดหมายแรกของการจัดกิจกรรมเพื่อการรู้เท่าทันรูปแบบใหม่ในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “รู้เท่าทันผ่านมุมมองของการสร้างกลลวง” ซึ่งเป็นการบูรณาการศาสตร์ที่หลากหลายครั้งแรกของประเทศไทย กลายเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจผ่านวิทยากรจากต่างวงการ

นายผาติยุทธ ใจสว่าง รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กิจกรรมในลักษณะนี้ อสมท จัดมาโดยตลอด ซึ่งมีรายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” เป็นโครงการนำร่องที่สร้างคุณค่าและความรู้ให้กับประชาชนและเยาวชนจนถึงปัจจุบัน”

นายชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนักสืบสายชัวร์ X ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST นอกจากได้ความรู้กลับไปแล้ว ยังได้ทักษะ วิธีการคิด เฉลียว เท่าทัน และเฝ้าระวังจากคนโกง รวมถึงกลลวงต่าง ๆ ด้วย”

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าบ้านอย่างเมืองพัทยา ที่อำนวยความสะดวก เรื่องสถานที่จัดงาน โดย คุณปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ได้กล่าวว่า “การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับผู้ร่วมกิจกรรม นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้จากวิทยากรระดับประเทศ และนอกจากได้ความรู้แล้วยังมีความสนุก เพลิดเพลิน และได้ภูมิคุ้มกันที่จะใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับข่าวปลอมต่าง ๆ ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะเมืองพัทยาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของประเทศไทยและทั้งโลกด้วย การจัดสัมมนาครั้งนี้จะช่วยได้อย่างยิ่ง เมืองพัทยายินดีต้อนรับกิจกรรมดี ๆ เหล่านี้เป็นอย่างมาก”


กิจกรรมมายากลสุดระทึก!

ไฮไลต์ของกิจกรรมคือ “การแสดงมายากล” จากนักมายากลระดับตำนานของเมืองไทย ที่นำเสนอการรู้เท่าทันข้อมูลเท็จและภัยไซเบอร์ผ่านการแสดงมายากลและกลลวงต่าง ๆ ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับโชว์และการเปิดโปงกลเม็ดกลลวงที่เหล่ามิจฉาชีพใช้กล่าวอ้างในการหลอกลวงเหยื่อ

แม้ดูเหมือนว่านักมายากลจะสามารถเสกคาถาหรือร่ายมนต์วิเศษได้ ทว่าในความเป็นจริงล้วนเป็นการแสดงที่อาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์ ถ้าหากเราเข้าใจคนกลวิธีก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพแน่นอน

คุณเฉลิมสวรรค์ ไพบูลย์พันธ์ (อาจารย์ฟิลิป) นักมายากล ที่ปรึกษาสมาคมวิทยากลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “มีความเชื่อหลายเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้ดู เพราะว่าสิ่งเหล่านี้นักมายากลก็ทำได้ สิ่งไหนที่นักมายากลทำได้ สิ่งนั้นจะไม่ใช่ความมหัศจรรย์หรือวิเศษอะไรทั้งสิ้น เป็นเพียงการแสดงแค่นั้นเอง”




เมื่อ “วิทยาศาสตร์” ไขความลับ “อภินิหารเร้นลับ”

เรื่องเร้นลับและอภินิหารมักถูกมิจฉาชีพนำมาแปลงสารให้กลายเป็นข้อมูลลวง หลอกลวงผู้คนบน Social Media มากเป็นอันดับต้น ๆ

ด้วยความไม่รู้ หรือมองไม่เห็นด้วยตา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรื่องราวเหล่านี้ยังคงใช้หลอกลวงได้อยู่เสมอ ทั้งที่รู้ว่าเรื่องลี้ลับส่วนมากเป็นข้อมูลกลลวงของผู้ไม่หวังดีที่แฝงตัวในคราบมิจฉาชีพ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมวิทยากลแห่งประเทศไทย อธิบายว่า “มีหลายเรื่องที่ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่เราเชื่อ เช่น เชื่อว่าผีและวิญญาณมีจริง แต่ถ้าอธิบายได้ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้น จริง ๆ แล้ววิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องพวกนี้ได้ไม่ใช่เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องความเข้าใจผิดไปเอง หรือบางทีก็เป็นการใช้แอพพลิเคชันมือถือต่าง ๆ ในการแกล้งก็ได้

เรื่องการหลอกลวงขายสินค้าก็มีมากมาย มีการใช้เทคนิคให้ดูเหมือนน่าเชื่อถือ แต่ถ้าเราจับได้ว่าเทคนิคนั้นจริง ๆ มันก็เป็นแค่กลลวง ไม่ว่าจะเป็นกลลวงทางวิทยาศาสตร์หรือแม้แต่มายากลก็ตาม

สิ่งที่เราอยากได้ก็คือการกระตุ้นต่อม “เอ๊ะ” ขึ้นมา แล้วหากเจอคนเข้ามาหลอกลวงเรา เราอาจจะต้องตรวจสอบก่อนว่ามีแนวโน้มที่จะหลอกได้หรือเปล่า แต่เมื่อก่อนเชื่อทันทีเลย แชร์เลย ส่งต่อเลย”




“เทคนิคทางคอมพิวเตอร์” รับมือข้อมูลเท็จ ภาพลวงตา!!

นอกจากข้อมูลลวงที่อยู่ในรูปตัวอักษรแล้ว การใช้เทคนิคภาพทางคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างภาพลักษณ์และตัวเสมือนบนโลกออนไลน์ ถือเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนที่รู้ไม่เท่าทันกลลวงอย่างยิ่ง

อุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย คุณขจร พีรกิจ กล่าวว่า “ยิ่งเทคโนโลยีรุดหน้าไปไกล เรายิ่งต้องเพิ่มองค์ความรู้ให้เป็นเกราะคุ้มกันภัยไซเบอร์

สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าใจก็คือเวลาเห็นภาพ ต้องคิดก่อนว่าภาพนี้เป็นภาพจริงหรือเปล่า ภาพลวงตาที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ คล้ายคลึงกับจินตภาพแห่งมายาที่นักมายากลใช้แสดงอยู่บนเวที ต่างกันตรงที่มายากลนั้นสร้างความบันเทิงใจ ในขณะที่กลลวงของผู้ไม่หวังดีสร้างความเสียหายให้กับผู้คน และที่สำคัญมากก็คือการเอาภาพของคนอื่นไปใช้หลอกลวง

เห็นได้ชัดเลยว่าเวลาเราเห็นการโฆษณาเรื่องลดความอ้วน บางทีภาพจริงอาจจะเป็นเพียงการสร้างภาพ แต่คนคนนั้นก็ยังอ้วนอยู่เหมือนเดิม

ต้องการให้คนที่มาอบรมได้ตระหนัก เห็นภาพแล้วก็อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องวิเคราะห์ก่อนว่าภาพนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ดังนั้น ถ้ายังไม่แน่ใจว่าภาพถูกตกแต่งหรือเปล่า ติดต่อได้ที่รายการชัวร์ก่อนแชร์ มีผู้เชี่ยวชาญช่วยในการตัดสินใจได้จริง”



จับโป๊ะเรื่องลี้ลับด้วย “วัคซีนความเชื่อ”

คุณกฤษกร แซ่เหล้า (เบิ้ม ลูกโป่ง) นักมายากล อธิบายว่า “กลเม็ดที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงผู้คนมีมากมาย แต่นับวันยิ่งแนบเนียน เมื่อเราเรียนรู้และเข้าใจ ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ

พวกเรานักมายากลจะไม่ก้าวล่วงหรือไม่ดูถูกความเชื่อใคร แต่เราจะนำเสนออีกมุม คือ วัคซีนความเชื่อ เป็นเรื่องราววัคซีนป้องกันเหมือนกับการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เป็นการป้องกันการโดนหลอกจนตกเป็นเหยื่อนั่นเอง รวมถึงวัคซีนมิจฉาชีพด้วย”

ซึ่งวัคซีนความเชื่อเป็นหลักสูตรที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “นักสืบสายชัวร์ X ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST” จะได้ฝึกการตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถามต่อข้อมูลและภาพที่เห็นตรงหน้าว่าเป็นเรื่องจริง หรือไม่ พร้อมตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งต่อ ถือเป็นการสร้างการรู้เท่าทันข้อเท็จจริงให้กับประชาชนตามแนวคิด TRICK or TRUST




TRICK or TRUST เสริมทักษะรู้เท่าทันภัยไซเบอร์

เนื้อหาสาระที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ล้วนนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันพร้อมแบ่งปันสู่คนในครอบครัวได้

ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “เทคนิคการหลอกลวงเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละพื้นที่ ดังนั้นจำเป็นต้องส่งเสริมองค์ความรู้นี้อย่างรวดเร็ว”

ด้าน ผศ.ดรวรัชญ์ ครุจิต คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า “เรื่องของมายากลนั้น สิ่งที่มองเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นครั้งแรกเราอย่าเพิ่งเชื่อ ครั้งต่อไปมันจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะไม่ใช่ของจริงก็ได้ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะได้ก็คือการปลุกจิตสำนึกว่าสิ่งที่เห็นครั้งแรกอาจจะไม่ใช่เรื่องจริง เราต้องมีสติหนักแน่นเอาไว้ ใช้ความระมัดระวังที่จะไม่ตกหลุมพราง”


รู้เท่าทันกลลวงแห่งปัญญาประดิษฐ์ A.I.

การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ A.I. สร้างภาพเสมือน เป็นเทคนิคที่เหล่ามิจฉาชีพใช้หลอกลวงผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อในปัจจุบัน

นักสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน match move artist คุณชิษณุพงษ์ กนกเนตรสกล ให้ความเห็นว่า “เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถรังสรรค์ทุกสิ่งให้เกิดขึ้นจริงได้เพียงปลายนิ้ว เราจึงต้องเรียนรู้ให้เท่าทันกลลวงทั้งด้านภาพและเสียงว่าสิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่ปาฏิหาริย์”

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาใช้ให้เราหลงเชื่อได้ บางทีอาจจะปลอมแปลงใบหน้าคน ใส่อย่างอื่นเข้าไปทำให้เราหลงเชื่อ ก็จะเป็นกลลวงของคนที่จะนำไปใช้และถ้าเป็นคนที่มีเจตนาร้ายก็อาจจะมาหลอกลวงเรา เพราะถ้าใช้ด้วยเจตนาดีก็เป็นสื่อบันเทิงทั่วไป ตรงนี้อยากจะแชร์ให้กับทุก ๆ คนที่มาร่วมงาน TRICK or TRUST

การกล่าวอ้างโดยใช้ข้อคิดเห็นมากกว่าข้อเท็จจริงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท ระรานกันบนโลกออนไลน์

ดังนั้น การเรียนรู้จากกรณีศึกษา รับข้อมูลข้อเท็จจริง ข่าวลวงต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นต่อหลักสูตรการเรียน ทั้งในและนอกสถาบันการศึกษาทุกระดับ

ในมุมมองของ ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้น “เวลาที่เราได้รับข้อมูลมา ก่อนที่จะเชื่อแล้วแชร์ต่อไป เราต้อง “เอ๊ะ” ก่อน ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ โดยควรคำนึงถึงเหตุผลดังนี้

1. คนที่ทำหวังผลประโยชน์อะไร เพราะการสร้างสื่อขึ้นมามีผลประโยชน์หรือหวังผลอะไรบางอย่างอยู่แล้ว
2. เราต้องเข้าใจว่าสื่อถูกประกอบสร้าง และสิ่งที่เราเห็นมันไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไปก็ได้

การประกอบสร้างสามารถทำได้หลายอย่าง อาจจะเป็นมุมกล้อง เป็นการปกปิดบางอย่าง หรือแม้กระทั่งการใช้กราฟิกและเทคโนโลยีทำให้ดูเหมือนจริง ในยุคที่เรียกว่า Hyperreality ที่ดูเสมือนจริงมาก

ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงคนที่เป็นสื่อมืออาชีพหรือองค์กรเท่านั้นที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาได้ เราอยู่ในยุคที่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้”


รู้เท่าทันข่าวลวง-ข้อมูลเท็จ เป็นเรื่องของ “ทุก Gen”

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “นักสืบสายชัวร์ X ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST” ครั้งนี้ มีหลายช่วงวัย ตั้งแต่ 7 – 74 ปี มีทั้งนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไป จากพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล และเมืองพัทยา สะท้อนให้เห็นว่าการรู้เท่าทันข่าวลวงและข้อมูลเท็จ เป็นเรื่องของคนทุก Generations

ถึงแม้มีความแตกต่างกัน แต่กิจกรรม TRICK or TRUST ก็ทำลายกำแพงแห่งวัย ซึ่งนอกจากความสนุกสนานที่ได้ สาระความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในทุกกิจกรรม ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ จากการตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านก่อนจะแชร์ต่อ



จุดประกายรับข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบรอบด้าน สร้างสังคมรู้เท่าทัน

ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้ฝึกการตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามต่อข้อมูลและภาพที่เห็น ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ ตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งต่อ โดยมีเสียงสะท้อนว่าควรบรรจุเนื้อหาสาระความรู้ที่เหมาะสมในหลักสูตรการเรียนการสอนให้เยาวชน ประชาชนจะได้เรียนรู้ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

ปิดท้ายด้วยมุมมองของ คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท กล่าวว่า “นี่คือการริเริ่มของศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เราพยายามทำให้คนรู้เท่าทันสื่อ เพราะสิ่งนี้คือภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันทุก ๆ คนให้พ้นจากเรื่องที่อันตรายมาก ๆ คือเรื่องของภัยจากข้อมูลข่าวสารในยุคนี้

จริง ๆ แล้วทุกคนต้องมีภูมิคุ้มกัน และการที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ก็คือการเรียนรู้ เราจึงเปิดตัวมุมมองของหลักสูตรการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง จากเดิมที่บอกว่าระวังข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ เราจะต้องตรวจสอบก่อนจะแชร์ต่อ ตอนนี้เรามองว่าเขาหลอกกันอย่างไร อะไรทำให้หลอก อะไรทำให้คนตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือ”


ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็คืออีกหนึ่งหลักสูตรดี ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมที่รู้เท่าทัน


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนักสืบสายชัวร์ x ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST ภายใต้การสนับสนุนโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยิงสส.กัมพูชา

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” ดับกลางกรุงเทพฯ

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ดับใกล้วัดดังกลางกรุง พบเหยื่อมีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลฮุนเซน

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม พร้อมกำหนดบทลงโทษหากพบเข้าไปข้องเกี่ยว

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา-วอศ.สระบุรี ชนะเลิศแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา และ วอศ.สระบุรี ชนะเลิศในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวแนะนำ

“เด็ก-เยาวชน” ส่ง ส.ค.ส.อวยพร “ปีใหม่-วันเด็ก” ให้นายกฯ

“เด็ก-เยาวชน” ส่ง ส.ค.ส.อวยพรปีใหม่ 2568 – วันเด็ก ให้ “นายกฯ พี่อิ๊งค์” มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง อยู่คู่ตึกไทยคู่ฟ้า บริหารประเทศไปนานๆ พร้อมฝากความคิดถึง “อดีตนายกฯ ทักษิณ”

16 บอสดิไอคอน แถลงปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.

16 บอส ดิไอคอนกรุ๊ป แถลงปฏิเสธทุกข้อหา ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.พ.นี้ ขณะที่ “ทนายวิฑูรย์” เผย “บอสพอล-บอสกันต์” ดีใจ หลัง “แซม-มิน” ได้ปล่อยตัว ส่วนท่าทีทั้งคู่ดูสบายๆ ปกติ ล่าสุดมีรายงาน “บอสวิน” ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว อยู่ระหว่างรอผล

ภรรยา “ลิม กิมยา” ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน

ภรรยา “ลิม กิมยา” ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน รวมถึงดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารและการติดต่อรับศพนายลิม ที่แผนกนิติเวช รพ.วชิรพยาบาล