🎯 ตามที่มีการแชร์ว่า “5 ข้อแก้นอนกรนด้วยตนเอง เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน ลดน้ำหนัก ห้ามนอนหงาย งดดื่มชากาแฟยามบ่าย”นั้น
📌 บทสรุป : ✅ ชัวร์ แชร์ได้ มีคำอธิบายเพิ่มเติม ✅
👉 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญ พญ.นวรัตน์ เกษมสุข ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยภาพรวม เบื้องต้นทั้ง 5 ข้อ สามารถช่วยเรื่องนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับได้
👉 ข้อ 1 หลีกเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน
การหลีกเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน เป็นคำแนะนำโดยทั่วไปที่เพิ่มคุณภาพการนอนอยู่แล้ว เพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะมีผลต่อความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และส่งผลต่อการหลับตื้นหลับลึก คุณภาพการนอนแย่ลง อาจจะทำให้เกิดการนอนกรนได้ หรือเป็นคนนอนกรนอยู่แล้วก็จะทำให้การนอนกรนแย่ลงได้อีก
👉 ข้อ 2 ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
การลดน้ำหนักช่วยเรื่องนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับได้มาก เพราะคนที่มีน้ำหนักมากจะมีเนื้อเยื่อไขมันบริเวณคอหอย ช่องคอ ทางเดินหายใจค่อนข้างมากตามไปด้วย
เรื่องน้ำหนักเกินอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่ายกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดการนอนกรน และมีหยุดหายใจขณะหลับตามมาด้วย ฉะนั้นคนที่มีน้ำหนักเกินถ้าควบคุมน้ำหนักให้ลดลงมาได้ ก็คาดหวังว่าการนอนกรนหรือการหยุดหายใจขณะหลับจะดีขึ้นได้
👉 ข้อ 3 ห้ามนอนหงาย ให้นอนตะแคง
ในผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง การหยุดหายใจค่อนข้างสัมพันธ์กับท่าทางการนอน โดยเฉพาะการนอนหงาย ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ การนอนตะแคงจะช่วยให้แนวโน้มการนอนกรนและการหยุดหายใจขณะหลับดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม จะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่การนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ เป็นทั้งนอนหงายและนอนตะแคง
เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถมาตรวจประเมินอย่างละเอียดได้ก็สามารถวางแผนการรักษาให้เหมาะสมได้มากกว่า
👉 ข้อ 4 งดดื่มชา กาแฟ ยามบ่าย และงดสูบบุหรี่
งดดื่มชา กาแฟ ช่วงบ่าย เป็นคำแนะนำโดยทั่วไปที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนอยู่แล้ว ถ้าเพิ่มคุณภาพการนอนได้ โอกาสที่จะนอนกรนหรือว่าคุณภาพการนอนไม่ดีก็จะลดลง
เรื่องการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ที่ส่งผลทำให้การนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับแย่ลง เพราะการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจอย่างมาก อาจทำให้จมูกบวม หรือเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณช่องคอบวมมีการหนาตัวมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
👉 ข้อ 5 หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด
ยาบางกลุ่มทำให้เกิดความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง และกดการหายใจ ฉะนั้นการใช้ยาโดยที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรืออยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ มีโอกาสทำให้การนอนกรนแย่ลง หรือแม้แต่การหยุดหายใจขณะหลับแย่ลงได้ด้วยซ้ำ
👉 ทั้ง 5 วิธีเป็นคำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้น แต่การนอนกรนมีความรุนแรงหลายระดับ ตั้งแต่เป็นแค่เสียงกรนเฉย ๆ หรือมีหยุดหายใจขณะหลับรุนแรงต่างกัน ซึ่งความรุนแรงที่ต่างกันส่งผลสืบเนื่องต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายต่างกัน
ดังนั้น คนที่นอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับควรได้รับการตรวจประเมินอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะการวางแผนรักษามีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขึ้นกับอาการและโรคประจำตัวของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย
โดยภาพรวมสามารถนำมาใช้ดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ แต่ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอย่างเหมาะสมต่อไป
หาสาเหตุตามข้อเท็จจริง ช่วยให้แก้ไขได้ตรงจุด
ตรวจสอบโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
สามารถรับชมคลิปรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : 5 ข้อควรปฏิบัติ แก้นอนกรนด้วยตนเอง จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter