20 มีนาคม 2566
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : Full Fact (สหราชอาณาจักร)
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ประเภทข่าวปลอม : ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
- ข้อมูลของ ONS ยืนยันว่าในปี 2020 ที่โควิด-19 เริ่มระบาด มีคนหนุ่มสาวเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
- ข้อมูลจากนิวซีแลนด์ยืนยันว่า อัตราการตายส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นในปี 2021 ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ในสหราชอาณาจักร โดย ดร.กาย แฮชาร์ด แพทย์ผู้อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ GB News เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2022 เพื่อโจมตีความไม่ปลอดภัยของวัคซีน โดยอ้างผลวิจัยที่พบว่าวัคซีน mRNA ทำลายเซลล์สมองและระบบภูมิคุ้มกัน, การติดเชื้อโควิด-19 ไม่ทำให้คนหนุ่มสาวเสียชีวิตมากขึ้นในปี 2020 และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในปี 2021 ทำให้ยอดการเสียชีวิตต่อปีเพิ่มขึ้น พร้อมย้ำว่าน้ำหนักตัวคือปัจจัยเสี่ยงสูงสุดที่จะทำให้ป่วยหนักจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่ทำยอดรับชมทาง Facebook และ YouTube รวมกันกว่า 250,000 ครั้ง
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
จากการตรวจสอบโดย Full Fact พบว่าคำกล่าวอ้างของ ดร.กาย แฮชาร์ด ไม่ถูกต้องหลายประการ แบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
- จากการทดลองในสิ่งมีชีวิต ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าวัคซีน mRNA ทำลายเซลล์สมองและระบบภูมิคุ้มกัน
ข้ออ้างที่ ดร.กาย แฮชาร์ด ระบุว่าวัคซีน mRNA ทำลายเซลล์สมองและระบบภูมิคุ้มกัน นำมาจากงานวิจัยจากประเทศโปแลนด์ ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ bioRxiv
อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่เผยแพร่ทาง bioRxiv ล้วนเป็นงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ (Preprint) ซึ่งยังไม่ผ่านการพิชญพิจารณ์ (Peer Review) หรือการประเมินความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการ ซึ่งทาง bioRxiv ระบุไว้อย่างชัดเจนว่างานวิจัยทั้งหมดยังไม่ผ่านการ Peer Review และไม่สามารถใช้อ้างอิงหรือรายงานผ่านสื่อมวลชนในฐานะงานวิจัยที่สมบูรณ์ได้
ดร.ปีเตอร์ อิงลิช อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Vaccines in Practice และอดีตกรรมาธิการสมาคมการแพทย์อังกฤษ (BMA) อธิบายว่าผลวิจัยดังกล่าวยังไม่ใช่การทดลองในสิ่งมีชีวิต จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหลอดทดลองจะเกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์หรือไม่
แม้ผลวิจัยจะชี้ถึงความเป็นไปได้ว่าวัคซีน mRNA จะแทรกซึมผ่านตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (Blood-brain barrier) แต่การตรวจสอบโดย ดร.ปีเตอร์ อิงลิช ไม่พบหลักฐานว่า มีวัคซีนอยู่ในเนื้อเยื่อระบบประสาทแต่อย่างใด
ดร.ปีเตอร์ อิงลิช ย้ำว่าเมื่อวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่จะอยู่แค่บริเวณที่ฉีดยา ส่วนที่จะหลุดรอดเข้าสู่กระแสเลือดจะมีความเจือจางมาก ๆ ซึ่งตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมองจะยับยั้งไม่ให้วัคซีนเข้าไปถึงระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้นวัคซีนที่เข้าสู่ระบบภูมิคุ้มกันได้จะมีปริมาณที่น้อยมากๆ ซึ่ง ดร.ปีเตอร์ อิงลิช สรุปว่า ในฐานะแพทย์และนักระบาดวิทยา เขาไม่เชื่อมั่นในผลวิจัยชิ้นนี้ จนกว่าจะมีงานวิจัยต่อยอดที่ให้ผลลัพธ์ชัดเจนยิ่งกว่านี้
- ชาวอังกฤษและเวลส์เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14% ในปี 2020
มาร์ค สเตน ผู้ดำเนินรายการร่วมกับ ดร.กาย แฮชาร์ด ระบุว่าในปี 2020 ที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก อัตราการตายส่วนเกิน (Excess mortality) ไม่เพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักร เนื่องจากผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในวัยเกินอายุขัยเฉลี่ยอยู่แล้ว
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) พบว่าอัตราการตายส่วนเกินในประเทศอังกฤษและเวลส์เมื่อปี 2020 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการตายส่วนเกินในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาที่ 14%
ONS ชี้แจงว่า แม้ผู้เสียชีวิตระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่ จะเป็นคนกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงอยู่แล้วในเวลาไม่กี่วัน, ไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน แต่ก็มีหลักฐานยืนยันว่า กลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีก็มีอัตราการตายส่วนเกินมากกว่าช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างชัดเจน และเป็นหลักฐานยืนยันว่าโควิด-19 ไม่ได้เป็นภัยแค่คนกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเสียชีวิตในอนาคตอันใกล้เท่านั้น
- อัตราการตายส่วนเกินในปี 2021 ของนิวซีแลนด์ ไม่เกี่ยวกับวัคซีน
ดร.กาย แฮชาร์ด อ้างว่าในปี 2021 ประเทศนิวซีแลนด์มีอัตราการตายส่วนเกินถึง 2,000 ราย ซึ่งเป็นปีที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างแพร่หลาย
ข้อมูลด้านสถิติที่เผยแพร่โดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ระบุว่า ในปี 2021 มีชาวนิวซีแลนด์เสียชีวิต 34,932 ราย มากกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการตายส่วนเกินในรอบ 5 ปีประมาณ 2,200 ราย
อย่างไรก็ดี อัตราการตายส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นในปี 2021 แทบไม่เกี่ยวกับการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19
ระบบรายงานความปลอดภัยจากวัคซีนโควิด-19 ของนิวซีแลนด์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 2022 พบว่ามีรายงานการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer จำนวน 156 ราย โดย 89 รายได้รับการยืนยันว่าการเสียชีวิตไม่น่าจะมีความสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน, 51 รายไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ, 14 รายยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุ และมีเพียง 2 รายที่การเสียชีวิตด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 และกำลังรอผลยืนยันจากเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพอยู่ในขณะนี้
- อายุคือปัจจัยที่มีผลต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด
มาร์ค สเตน ผู้ดำเนินรายการอ้างว่า น้ำหนักตัวคือปัจจัยที่มีผลต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐานที่ 40 ปอนด์หรือ 18 กิโลกรัม
ข้อมูลดังกล่าวนำมาจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) ที่ระบุว่ากลุ่มคนที่จัดอยู่ในกลุ่มอ้วนมาก (severe obesity) หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 40 คือกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19
ผลการสำรวจชาวอังกฤษจำนวน 6.9 ล้านคน พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น กับอัตราการรักษาตัวในห้องฉุกเฉินจากโรคโควิด-19
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่มีผลต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดไม่ใช่น้ำหนักตัว แต่เป็นอายุของผู้ป่วย
มูลนิธิโรคหัวใจแห่งชาติอังกฤษ ระบุว่าอายุของคนไข้คือปัจจัยที่มีผลต่อการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC) ยืนยันเช่นเดียวกันว่า ความเสี่ยงของการป่วยหนักจากโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นตามอายุของผู้ป่วยที่มากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง:
https://fullfact.org/health/guy-hatchard-mark-steyn-gb-news/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter