เสาวภาคย์ รัตนพงศ์, พีรพล อนุตรโสตถิ์, สุวัชรียา จันทร์บัว
อัปเดตเมื่อ 11 มีนาคม 2566
จากปัญหาการหลอกลวงของแก๊งมิจฉาชีพที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 3 มีนาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกหลวงประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ มีการโอนเงินออกจากบัญชีผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารจนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารของรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาและบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดแก่ประชาชน
ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจรวม 8 แห่ง ได้เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคาร เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพโทรแจ้งเหตุ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสกัดกั้นความเสียหายให้เร็วที่สุด
ธนาคารกสิกรไทย 0-2888-8888 กด 001
ธนาคารกรุงไทย 0-2111-1111 กด 108
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1572 กด 5
ธนาคารกรุงเทพ 1333 หรือ 0-2645-5555 กด *3
ธนาคารไทยพาณิชย์ 0-2777-7575
ธนาคารทหารไทยธนชาต 1428 กด 03
ธนาคารออมสิน 1115 กด 6
และ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 0-2626-7777 กด 00
ล่าสุด (9 มีนาคม 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 8 แห่ง รวมเป็น 12 แห่ง ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับการบรรเทาความเสียหายอย่างครอบคลุมและรวดเร็วที่สุด โดย 4 ธนาคารที่เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุภัยเพิ่มเติม มีดังนี้
ธนาคารยูโอบี 0-2344-9555
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 0-2359-0000 กด 8
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 0-2645-9000 กด 33
และ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย 0-2697-5454
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ได้รวบรวมเบอร์โทรของแต่ละธนาคารเพื่อแจ้งเหตุภัยการเงินจากมิจฉาชีพ หากประชาชนท่านใดประสบปัญหาดังกล่าว สามารถโทรได้ 24 ชั่วโมง
นอกจากการเปิดศูนย์แจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของทั้ง 12 ธนาคารแล้ว รัฐบาลยังได้ผลักดัน พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นกฎหมายที่เข้ามาช่วยจัดการปัญหาได้อย่างเด็ดขาด ซึ่ง พ.ร.ก. ดังกล่าว มีสาระสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามการกระทำผิด ด้วยมาตรการต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่หน่วยงานที่มีอำนาจให้การอนุญาต การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ การอนุมัติให้สถาบันการเงินสามารถระงับธุรกรรมเมื่อพบเหตุอันต้องสงสัยหรือได้รับแจ้งเหตุจากเจ้าของบัญชีได้ทันที ตลอดจนเร่งการกวาดล้างบัญชีม้า เป็นต้น
โดยขณะนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสมาคมธนาคารไทย อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบกลางที่เรียกว่า ศูนย์ตรวจเช็กธุรกรรมที่มีความเสี่ยงทุจริต (Central Fraud Registry) เพื่อเป็นกลไกด้านข้อมูลที่จะช่วยในการยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดกับประชาชนเจ้าของบัญชีที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter