กทม. 12 ส.ต.- แนวทางการแก้ปัญหาของสมาคมกีฬาฟุตบอลไทย หลังต้องเลื่อนศึกฟุตบอลไทยลีก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
การกู้เงินคือ แนวทางหลักในการแก้ปัญหา วิกฤตวงการฟุตบอลไทยในเวลานี้ หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้ฟุตบอลแข่งขันไม่ได้ตามกำหนดเดิมที่ตกลงไว้ในสัญญาค่าตอบแทนลิขสิทธิ์กับ “ทรู วิชั่นส์” เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด
เดิมลีกลูกหนังไทยจะเปิดฤดูกาล 14 กุมภาพันธ์ 2563 ไปปิดนัดสุดท้าย 25 ตุลาคม ปีเดียวกัน และจะได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์ปีสุดท้ายจาก “ทรู วิชั่นส์” ราว 1,200 บาท สโมสรไทยลีกจะได้รับเงินสนับสนุน 20 ล้านบาทจากส่วนนี้ และสมาคมฟุตบอลก็จะมีงบบริหารจัดการลีกให้เสร็จสิ้นไปครบ 30 นัดตามปกติแต่เมื่อโควิดระบาด เกมกีฬาไม่สามารถแข่งขันได้ ต้องพักยาวมาตั้งแต่เดือนมีนาคม หลังเตะไปได้แค่ 4 นัด สมาคมฟุตบอลฯ ประชุมร่วมกับสโมสร ก่อนที่สโมสรจะมีมติเลื่อนลีกไปแข่งต่อนัดที่ 5 ในวันที่ 12 กันยายน 2563 ถึง พฤษภาคม ปี 2564 แต่ไม่ทันได้ปรึกษากับ “ทรู วิชั่้นส์” ที่ไม่สะดวกในการถ่ายทอดสดหลังเดือนตุลาคมตามสัญญาเดิม ทำให้ ทรู ไม่อาจจะจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ที่เหลืออีกราว 800 ล้านบาทให้สมาคมลูกหนังได้
การประชุมร่วมกับสโมสรสมาชิกล่าสุด พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมออกมาเผยว่า งบดุลสมาคมติดลบประมาณ 2,400,000 บาท อีกทั้งยังมีการเปิดเผยยอดประมาณการรายได้ในปี 2563 ด้วยว่า จากที่คาดว่าจะได้ 1,800,000,000 บาท
แต่ถึงครึ่งปี มีรายได้ที่รับมาแล้วเพียง 745,000,000 บาท ขาดไปกว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้ต้องกู้เงินระยะสั้นเพื่อแก้ไขวิกฤตในจุดนี้ แต่เงินกู้จะใช้เพื่อจัดแข่งขันลีก และแลทีมชาติไทยเท่านั้น จะไม่นำมาเป็นเงินสนับสนุนสโมสร
แนวทางการกู้มี 3 ช่องทาง คือ 1. องค์กรในประเทศ ทั้งการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือ กู้บริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ 2.องค์กรต่างประเทศ เช่นการขอนำเงินสนับสนุนจากฟีฟ่าล่วงหน้ามาใช้ หรือ สุดท้ายคือการกู้ยืมเงินจากครอบครัวนายกสมาคมเองมาใช้
นายกลูกหนังไทยให้คำมั่นว่า ฟุตบอลไทยจะเดินหน้าต่อ เชื่อว่าจะหาเงินทุนได้ทันก่อน 12 กันยายน.-สำนักข่าวไทย