กรุงเทพฯ 17 พ.ย. – แฟนบอลไทยจะได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ครบทั้ง 64 แมตช์ เหลือแค่รายละเอียดสัญญาเพียงเล็กน้อยจากค่าลิขสิทธิ์ที่ลดลงเหลือ 1,400 ล้านบาท
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ขีดเส้นตายให้ประเทศไทยต้องปิดดีลซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ภายในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) ซึ่งหลังจากที่ยืดเยื้อมานาน ในที่สุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยกับทีมข่าวกีฬา สำนักข่าวไทย เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (17 พ.ย.) ถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้มีแนวโน้มที่ดีที่แฟนบอลชาวไทยจะได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2565 จากประเทศกาตาร์ โดยเหลือรายละเอียดของสัญญาที่บริษัท อินฟรอนท์ สปอร์ตส แอนด์ มีเดีย ผู้ถือลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 จากฟีฟ่า ยอมลดลงจาก 1,600 ล้านบาท เหลือ 1,400 ล้านบาท เพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะเรื่องภาษีนำเข้าที่มีส่วนต่างอยู่ที่ 200-300 ล้านบาท แต่คาดว่าไม่น่ามีปัญหา ขอเวลาอีก 1-2 วัน จะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ หลังได้รับเงินช่วยเหลือจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 600 ล้านบาท กับภาคเอกชนที่คาดว่าจะให้การสนับสนุน ทั้งบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมกัน 400 ล้านบาท และเตรียมยืมเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติอีก 400 ล้านบาท เพื่อให้ครบ 1,400 ล้านบาท
ส่วนสถานีโทรทัศน์ของไทยที่จะได้ถ่ายทอดสด ล่าสุดเมื่อวานนี้ (16 พ.ย.) นางโปรดปราน สมานมิตร รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายส่งเสริมกีฬา ได้เชิญสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 21 สถานี รวมถึงช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อเตรียมพร้อมหากการเจรจาต่อรองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกบรรลุข้อตกลง และพร้อมรับสัญญาณในการถ่ายทอดสดที่การกีฬาแห่งประเทศไทยทันที
ปัญหาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากกฎ Must Have และ Must Carry ที่ออกโดย กสทช. ซึ่งมีเจตนาที่ดี เพื่อต้องการให้แฟนกีฬาชาวไทยได้ชมการถ่ายทอดสดมหกรรมกีฬาระดับโลกทั้ง 7 มหกรรมกีฬา ตั้งแต่ซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่กระทบต่อภาคเอกชนที่หวังจะเข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ แต่กลัวบทเรียนจากฟุตบอลโลก 2010 ที่บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้ลิขสิทธิ์ แต่ถูกกฎ Must Have และ Must Carry เล่นงาน จนทำรายได้ไม่คุ้มกับที่ลงทุนไป ทำให้ภาคเอกชนของไทยขยาดไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุนอีก ซึ่งการที่ กสทช.เตรียมยกเลิกกฎเหล็กนี้ น่าจะทำให้ภาคเอกชนกล้าที่จะเข้ามาลงทุน และยังถือเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับภาครัฐที่ต้องนำเงินภาษีมาช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี. – สำนักข่าวไทย