กรุงเทพฯ 19 ก.ค. – “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ประชุมด่วนกลุ่มเส้นด้าย สายไหมต้องรอด และเราต้องรอด หาแนวทางรับมือโควิด ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยืนยันไม่มีการปฏิเสธผู้ป่วย ยาและเตียงยังเพียงพอ ติดโควิดโทรสายด่วน 1669
เวลา 16.15 น. (19 ก.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือแนวทางการประสานงานกับมูลนิธิต่างๆ พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมี ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย ศูนย์เอราวัณ ร่วมประชุมกับผู้แทนจากกลุ่มเส้นด้าย ทีมงานสายไหมต้องรอด นางสาวไดอาน่า จงจินตนาการ จากเพจ “เราต้องรอด” ซึ่งการประชุมได้เปิดระบบออนไลน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ประชุมหารือกับกลุ่มเอกชนที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ เช่น จากกลุ่มเส้นด้าย ทีมงานสายไหมต้องรอด เพจ “เราต้องรอด” ซึ่งเป็นคนที่สัมผัสอยู่ที่พื้นที่หน้างานจริงๆ เพื่อรับฟังปัญหาและแก้ไขการทำงานประสานงานร่วมกัน ซึ่งเรื่องแรกคือ การแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่จำกัดจำนวน ขอให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไปรับบริการได้ที่โรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 11 แห่ง รวมถึงวชิรพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งบางทีอาจมีปัญหาเรื่องพื้นที่คับแคบ รองรับผู้ป่วยได้จำนวนไม่มาก แต่จะมีการนัดหมายเพื่อมารับยาในวันต่อไปได้ โดยจะขยายวันทำการเพิ่มในวันเสาร์ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่เขตอีกด้วย
เรื่องที่ 2 คือการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ตรวจ ATK แล้วพบว่าตัวเองติดเชื้อ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเดินทางมารับยาหรือพบแพทย์ สามารถนำบัตรประชาชนและผลตรวจให้ญาติพี่น้องมารับยาแทนได้ เรื่องที่ 3 คือผู้ป่วยอาการไม่มากหรืออาการเขียว ซึ่งบางครั้งอาจไม่ต้องรับยา ขอให้เชื่อแพทย์ในการวินิจฉัยโรคในการบ่งชี้ว่ากลุ่มไหนจะต้องได้รับยาหรือไม่ได้รับยา จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าอย่าตื่นตระหนกหากไม่ได้รับยา เพราะบางครั้งโรคจะหายไปเองแบบไข้หวัด สำหรับกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่ม 608 และมีโรคประจำตัว เมื่อได้รับยาแล้วจะมีระบบ HI หรือ Home Isolation พร้อมเจ้าหน้าที่ ในการดูแลติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในปัจจุบันระบบอาจยังดำเนินการไม่สมบูรณ์ กทม. จะเร่งแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้ กทม. ยังได้เปิดการให้บริการโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยสีเขียวเพิ่ม จำนวนกว่า 500 เตียง ที่สนามกีฬาบางกอกอารีน่า เขตหนองจอก และศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ ซึ่ง กทม. จะทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานภายนอกในเรื่องของการเพิ่มเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ได้มากขึ้นอีกด้วย รวมถึงการประสานการดูแลส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลนอกสังกัด กทม.
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือ สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 ซึ่งขณะนี้มีการปรับปรุงให้มี 60 คู่สาย เพื่อรองรับผู้ป่วยที่โทรมาให้ได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยทุกกลุ่มอาการสีต่างๆ สามารถโทรได้ เพราะจะมีการประสานงานบริหารจัดการหาเตียงและรับส่งผู้ป่วยทุกกลุ่มสีไปสู่สถานพยาบาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด กทม. รวมถึงการขอรับบริการฉีดวัคซีนด้วยที่จะมีการขยายบริการฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน เพราะขณะนี้การฉีดวัคซีน Booster Shot เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยลดอาการป่วยไม่ให้เป็นระดับสีแดง และช่วยบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้รับภาระหนักได้ ซึ่งขณะนี้สามารถไปฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทั้ง 69 แห่ง และอาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) ได้ทุกวัน
“ขอขอบคุณภาคเอกชนทุกท่านที่ร่วมกับทาง กทม. เพราะเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากบางที กทม. อาจจะรู้รายละเอียดได้ไม่เท่าภาคเอกชนที่มีข้อมูลหน้างานจากการลงพื้นที่มากมาย ทำให้ กทม. ได้รับทราบข้อเท็จจริงของปัญหา ซึ่งตรงไหนที่ปรับปรุงได้ กทม. จะเร่งปรับปรุง เพื่อร่วมเดินไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง และขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าขณะนี้ยามีเพียงพอ รวมถึงกลุ่ม 608 กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว และมีความเสี่ยง ซึ่ง กทม. มีความเป็นห่วงเป็นพิเศษ ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้ป่วยโควิด-19 หากมีอาการป่วยให้รักษาตัวเองแบบ 5+5 คือรักษาตัวเอง 5 วัน และกักตัวเองอีก 5 วัน เพื่อความปลอดภัย และลดการแพร่ระบาดสู่ผู้อื่น” นายชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีจำนวนเตียงประมาณ 760 เตียง อัตราครองเตียงอยู่ 47% รองรับผู้ป่วยระดับสีแดง 24 เตียง มีผู้เข้ารับการรักษาอยู่ 17 เตียง รองรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง 700 เตียง มีผู้เข้ารับการรักษาอยู่ 366 เตียง ภาพรวมของทุกโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียง 5,600 เตียง มีผู้ครองเตียงรักษาพยาบาลอยู่ 3,000 กว่าเตียง คิดเป็น 47% ซึ่งยังสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้.-สำนักข่าวไทย