รร.อัศวิน 15 มิ.ย.- ปลัด สธ. หนุนให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง หวังอุดช่องโหว่สุญญากาศ และหวังใช้กฎหมายของ สธ.ด้านต่างๆ ควบคุมเพื่อคุ้มครองประชาชน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดงาน “เดินหน้า..กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน” ว่า เห็นด้วยที่จะให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ตามที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ เสนอมา หากทำได้ก็จะให้เร่งทำ เพราะเมื่อกัญชาเสรีแล้ว ก็ต้องปกป้องประชาชนด้วย ในส่วนที่ไม่ดีที่จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น กลิ่น และควัน ได้ออกประกาศควบคุมกลิ่นและควันกัญชาให้เป็นเหตุรำคาญ รวมถึงหากมีผลต่อจิตประสาท มีผลต่อพฤติกรรมที่ทำให้เสพติด มีอาการจิตประสาท ก็ต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน ซึ่งจะสะท้อนผลออกมาในเรื่องของอุบัติเหตุ มีผลทางจิตประสาทมากขึ้นหรือไม่ หรือจะมีผลเสียกับเด็ก เยาวชน หรือไม่ จึงต้องเร่งมาตรการป้องกันให้มากที่สุด ถ้าเป็นอาหารสำเร็จรูปก็ต้องฝากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกคำเตือน เช่น เครื่องดื่มชูกำลังห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด ทั้งหมดนี้พิจารณาตามหลักวิชาการ รวมถึงร้านใดที่มีการผสมอาหารด้วยกัญชาจะต้องมีการแจ้งให้ประชาชนทราบ ซึ่งหาก พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังไม่ออกอาจใช้กฎหมายที่ สธ. มีอยู่ก่อน เพื่อให้เกิดความรอบคอบปลอดภัยที่สุด ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ หากยืนยันว่าเห็นประโยชน์ของกัญชา ต้องช่วยกันอธิบายทำความเข้าใจ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากนโยบายการปลดล็อdกัญชา คาดการณ์ว่าประชาชน เกษตรกร รวมถึงภาคธุรกิจ จะได้รับประโยชน์ เช่น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาทต่อวิสาหกิจต่อรายต่อปี ขณะนี้วิสาหกิจชุมชนที่ยื่นขอปลูกกัญชา ประมาณ 1,976 แห่ง จะมีเงินไหลเวียนในระบบ 2,964 ล้านบาทต่อปี มีการส่งเสริมให้วัตถุดิบกัญชาเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง ซึ่งมีมูลค่าตลาด 200,000 ล้านบาทต่อปี กลุ่มผู้ป่วยนอนไม่หลับ และผู้สูงอายุ ประมาณ 31 ล้านคน ประมาณการเป็นมูลค่า 64,000 ล้านบาทต่อปี ในส่วนประโยชน์ด้านสุขภาพ จากการปลดล็อกกัญชา สามารถลดภาระการดูแลผู้ป่วยในระบบสุขภาพในโรงพยาบาล ประชาชนสามารถนำส่วนของกัญชาไปใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ เช่น ชาชงกัญชา กัญชากับอาหาร และเพิ่มการเข้าถึงบริการในระบบสุขภาพปฐมภูมิ เข้าถึงการใช้ตำรับยาแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ง่ายขึ้น ช่วยบรรเทา รักษาอาการ/โรคของผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในผู้ป่วยระยะประคับประคองลงประมาณ 928.8 ล้านบาท ผู้ประกอบวิชาชีพการแผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน สามารถนำกัญชามาใช้ปรุงยาให้ผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้ ภาพรวมจากการปลดล็อกกัญชา จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรม และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 267,210 ล้านบาท เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย