สธ. 27 เม.ย.- “อนุทิน” ชี้ทุกจังหวัดพร้อมเข้าสู่โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ต้องทำพร้อมกันทั้งประเทศ แต่ให้คณะกรรมการโรคติดต่อออกแบบแผนให้เหมาะสมกับจังหวัดของตนเอง ส่วน พ.ค.เปิดเทอม เน้นฉีดวัคซีนในเด็กให้ครบภายใน 1 เดือน และเรียนแบบออนไซต์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงโควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นว่า ขณะนี้ทุกจังหวัดมีความพร้อมและสนใจเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหากมีการทำจริงก็จะทำพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพราะหากทำบางจังหวัด แต่บางจังหวัดไม่ได้ทำก็ยุ่ง ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันพร้อมกันทั้งประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้กรมควบคุมโรคออกแบบหลักเกณฑ์และเสนอ ศบค. ทั้งนี้ ยืนยันทุกขั้นตอนการดำเนินการขณะนี้ก็เรียกว่าทุกอย่างเดินเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ทั้งการปรับ-ลดมาตรการเข้าไทย ที่ลดการตรวจจาก RT-PCR เหลือ ATK รอบเดียว ซึ่งในอนาคตหากเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นก็ต้องมีการปรับลดทุกอย่างลงอีก
ทั้งนี้ หากผ่านช่วงเทศกาลสงรานต์ออกไปอีก 1-2 สัปดาห์ ไม่มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็อาจเสนอให้ไม่ต้องมี ATK หรือยกเลิก Thailand Plus แต่ทั้งนี้ต้องทำให้ทุกอย่างเกิดความสมดุล
นายอนุทิน กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ ยังคงต้องมุ่งหน้าเรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่งผลจากการดำเนินการฉีดวัคซีน ที่ผ่านมาจะเห็นว่าคนที่รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และเข็ม 4 ไม่มีใครเสียชีวิต และหากมีการติดเชื้ออาการก็ไม่รุนแรง ทั้งนี้ ผ่านมาแล้ว 10 วัน ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อไม่ได้พุ่งสูง ขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่หลายจังหวัดมีความตื่นตัว ตั้งใจ และต้องการปรับพื้นที่ให้เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่ง ศบค.ก็แจ้งให้ทุกจังหวัดเร่งจัดทำแผนรับมือกับสถานการณ์โรค เพื่อพร้อมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้ออกแบบ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างไม่เหมือนกัน ไม่สามารถใช้แผนแบบเดียวกันได้ ซึ่งรูปแบบอนุญาตให้เข้มมากกว่า ศบค. แต่หย่อนยานกว่าไม่ได้ เช่น จ.ภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวก็ออกแบบลักษณะหนึ่ง, จ.ยโสธร มีบริบทของท้องถิ่นเป็นหลัก ก็อีกแบบหนึ่ง
นพ.โอภาส กล่าวย้ำว่า ตอนนี้สถานการณ์การติดเชื้อคงที่ มาจากความร่วมมือของประชาชน เคารพกติกา และสงกรานต์ก็มีการฉีดวัคซีนพอสมควร ทำให้สถานการณ์ไม่ได้พุ่งไป ทั้งปัจจัยเสี่ยงที่สถานการณ์จะแย่ลง ก็ต่อเมื่อมีการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งไม่ได้มีอะไรมากนัก การกลายพันธุ์ที่้พบตอนนี้ ยังไม่ดื้อต่อวัคซีน หรือแพร่เร็วมากขึ้น ประเทศไทยได้ผ่านเชื้อที่แรงอย่างเดลตามาแล้ว อีกทั้งตอนนี้พบการกลายพันธุ์เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ก็ปล่อยเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ ขณะนี้ใกล้เข้าสู่เดือน พ.ค. จะเป็นช่วงเปิดเทอม ในส่วนวัคซีนคาดว่า หลังเปิดเทอมผ่านไป 1 เดือน จะฉีดวัคซีนได้ครบทุกกลุ่มนักเรียนทุกชั้นวัย พร้อมจุดมุ่งหมาย เน้นการเรียนแบบออนไซต์ มากกว่าออนไลน์ โดยขณะนี้เด็กมัธยมฉีดวัคซีนไปแล้ว 80-90% ระดับประถมฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว 50-60%
นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจะทำเรื่องการแยกการเสียชีวิตจากโรคโควิด กับเสียชีวิตและมีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย เพื่อให้เห็นภาพการเสียชีวิตของโควิดอย่างชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นบางคนที่มีโรคร่วม หรือเกิดอุบัติเหตุ หากตรวจพบว่าติดเชื้อ ก็จะกลายเป็นเสียชีวิตจากโควิด ดังนั้น ต้องมีการแยกชัดเจน เบื้องต้นจากการประชุม EOC เมื่อหลายวันก่อน พบว่าการเสียชีวิตจากโควิดมีประมาณ 30-40 คน ส่วนการเสียชีวิตและมีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วยนั้นพบ 60-70 คน.-สำนักข่าวไทย