วัดบวรฯ 16 มี.ค.- ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เผย “สมเด็จพระวันรัต” อุปถัมภ์พุทธศาสนาในเรื่องการศึกษา แม่นทั้งหลักธรรมและพระวินัย วัตรปฏิบัติของท่านสะท้อนหลักธรรมต่อประชาชนได้ แม้อาการอาพาธของท่านเอง ยังนำมาเป็นตัวอย่างสอนและให้กำลังใจผู้อื่น
พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เล่าถึงอาการอาพาธช่วงสุดท้ายของสมเด็จพระวันรัต ว่าอาการป่วยเริ่มทรุดลงเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2564 ทำให้ร่างกายท่านซีด ผอม แต่ยังรู้องค์ จนช่วงสุดท้ายทีมแพทย์ต้องถวายเครื่องช่วยหายใจ และให้ยาทางเส้นเลือด แต่อาการก็ทรุดลงต่อเนื่อง จนถึงช่วงเช้าของเมื่อวาน ความดันโลหิตลดลงอยู่ 50-70 มิลลิเมตรปรอท และผ่อนลงเรื่อยๆ ในช่วงบ่าย ก่อนจากไปอย่างสงบ ไม่มีอาการชักเกร็งใดๆ
วันพรุ่งนี้ คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารจะรับสรีรสังขารของท่านกลับมายังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการสวดอภิธรรมศพ และบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.-23 มี.ค.65 หลังจากนั้นจะเปิดให้คณะสงฆ์ องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนคณะศิษยานุศิษย์รับเป็นเจ้าภาพในการสวดอภิธรรมศพจำนวน 100 วัน
สถานที่การจัดงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนชั้นในจะเป็นอาคาร 100 ปี ที่ไว้ใช้รองรับพระบรมวงศานุวงศ์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ และคณะบุคคลสำคัญ ร่วมถึงญาติสนิท ส่วนประชาชนบุคคลทั่วไปก็ร่วมพิธีได้ที่อาคารสภาการศึกษาที่ด้านหน้าของวัด ส่วนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับผู้ที่เข้าร่วมงานที่อาคาร 100 ปี จะมีการตรวจคัดกรองเข้มงวด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม รวมไปถึงการตรวจ ATK ส่วนผู้ที่เข้าร่วมพิธีที่อาคารสภาการศึกษา จะมีการตรวจวัดอุณหภูมิ และการเว้นระยะตามมาตรการเช่นเดียวกัน
พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ยังกล่าวถึงการจากไปของสมเด็จพระวันรัต ว่าเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของคณะสงฆ์ เพราะที่ผ่านมาท่านอุปถัมภ์พุทธศาสนาในเรื่องการศึกษา ทั้งบาลีสนามหลวง และโรงเรียนปริยัติธรรมตามวัดต่างๆ ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ขณะที่ในด้านการปกครองคณะสงฆ์ ถือว่าตลอดระยะเวลาท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ถือเป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองของวัด ด้วยความแม่นทั้งทางหลักธรรมและพระวินัยของท่าน พร้อมกับคอยรักษาความเป็นที่พึ่งพิงดับร้อนของวัดให้แก่คนทั่วไป ด้วยการปลูกต้นไม้ด้วยตัวเองไว้หลายต้น
แม้ว่าคณะสงฆ์และลูกศิษย์บางส่วนอาจจะมองว่าท่านเป็นคนดุ แต่เนื้อแท้ท่านเป็นผู้มีเมตตา และต้องการสั่งสอนให้ผู้อื่นเกิดความเข้าใจให้ตรงจุด อย่างกรณีอาการอาพาธของตัวท่านเอง ก็นำมาเป็นตัวอย่างในการสอนและให้กำลังใจผู้อื่น เช่น คำสอนที่ว่า “เราจะแยกตัวเองออกจากปัญหาได้อย่างไร” เรื่องโรคเป็นเรื่องทางกาย เป็นหน้าที่ของหมอที่จะต้องรักษา แต่เรื่องจิตใจ เป็นเรื่องของเราเอง ที่จะต้องคอยรักษาจิตให้มีความเข้มแข็ง และมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคภัยที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันในช่วงที่ท่านอาพาธมักจะขออนุญาตแพทย์ออกมาทำกิจนิมนต์ที่ได้นัดหมายญาติโยมเอาไว้ เพื่อไม่ให้งานที่รับปากไว้เสียหาย ถึงแม้ว่าช่วงที่ทำกิจนิมนต์อาจจะมีอาการเจ็บปวด ท่านก็ไม่ได้แสดงออกให้ญาติโยมต้องกังวลใจ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้ที่มีความยึดมั่นในทางสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นทุกสิ่งทุกอย่างก็ประสบความสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจ.-สำนักข่าวไทย