นครสวรรค์ 7 มี.ค. – ปลัดสธ. ติดตามการดำเนินงานด้านสุขภาพจิต ในเขตสุขภาพที่ 3 พบปัญหาฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยทำงานมากสุด เพศชายมากกว่าหญิง ปัจจัยร่วมจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ โรคเรื้อรังทางกาย และปัญหาเศรษฐกิจ กำชับทุกฝ่ายเน้นดูแลผู้ป่วยจิตเวชเสมือนคนในครอบครัว
วันนี้ (7 มีนาคม 2565) ที่ โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตและคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตในเขตสุขภาพที่ 3 พร้อมให้กำลังใจบุคลากรและเจ้าหน้าที่ และกล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายของเขตสุขภาพที่ 3 พบมากสุดในกลุ่มวัยทำงานโดยเป็นเพศชายมากกว่าหญิง ปัจจัยร่วมที่พบมากที่สุดคือ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ รองลงมาคือ ปัญหาโรคเรื้อรังทางกาย และปัญหาด้านเศรษฐกิจ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบดูแล 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และชัยนาท ได้มีแนวทางดำเนินงานโดยการวิเคราะห์พื้นที่สีแดง เพื่อดำเนินการสอบสวนโรคทันที ค้นหาปัจจัยเสี่ยงพร้อมแก้ไขปัญหา หากพบว่ามีโรคทางจิตเวช ปัญหาสุรา สารเสพติด และโรคทางกาย จะต้องได้รับการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเน้นมาตรการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งต่อสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตายให้แก่ญาติ ผู้ดูแล อสม.ในพื้นที่ เพื่อให้ช่วยกันเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกฝ่ายดูแลผู้ป่วยจิตเวชเสมือนเป็นคนในครอบครัวให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้สะดวก รวดเร็ว และสามารถใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
สำหรับ โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ พบว่ามีการดำเนินงานสุขภาพจิตหลายมิติ อาทิ การสนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตตามพระราชดำรัส, พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เช่น โครงการราชทัณฑ์ปันสุขทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์, การดูแลจิตใจของบุคลากรเรือนจำและผู้ต้องขังในสถานการณ์โควิด-19, การให้คำปรึกษา การเยียวยาจิตใจประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 และบูรณาการงานสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัยผ่านกลไกเขตสุขภาพ ครอบคลุมตั้งแต่ปฐมวัย วัยเรียน วัยรุ่น และวัยทำงาน.-สำนักข่าวไทย