กรุงเทพฯ 17 ก.พ. – จากเหตุการณ์หลานสาววัย 17 ปี ลงมือฆ่ายายที่เลี้ยงดูตัวเองมา ทำให้ถูกมองถึงเหตุจูงใจในการสร้างพฤติกรรมรุนแรง ซึ่งจิตแพทย์แนะนำถึงพื้นฐานการเลี้ยงดู ที่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และเปิดใจรับฟังเด็ก เป็นการช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่ดีได้
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยว่า การอบรมเลี้ยงดูเด็กส่งผลต่อพฤติกรรม ต้นตอมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว การฟูมฟักเลี้ยงดูมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะสภาพสังคมปัจจุบัน ขนาดของครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เปลี่ยนไปด้วย เกิดช่องว่างระหว่างวัย เช่น ปู่ย่าตายายกับหลาน แต่ละครอบครัวจึงต้องเริ่มต้นที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ที่สำคัญคือ การสอนด้วยการทำตัวเป็นแบบอย่างให้เด็กเห็น
อีกสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยมักขาด คือ การ “จับถูก” ไม่ใช่การ “จับผิด” ส่วนมากครอบครัวไทยมักชอบจับผิดเด็ก เมื่อเด็กทำสิ่งไม่ถูกต้อง มักจะถูกตำหนิ แต่เมื่อเด็กทำสิ่งที่ดี กลับไม่ได้รับการชมเชย
คุณหมอยังบอกว่า ผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสให้เด็ก เพราะลักษณะของเด็กหรือวัยรุ่น คือ มักจะชอบทดลอง ซึ่งผู้ใหญ่มักจะห้ามไว้ก่อน โดยไม่ฟังเหตุผล และเมื่อผิดก็ถูกทำโทษทันที สิ่งที่จะตามมา คือ ต่อไปเด็กจะโกหก ไม่พูดความจริง ดังนั้น ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดทุกอย่าง แม้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่อยากฟังก็ตาม และใช้โอกาสนี้สอนให้เขาคิดตามว่า สิ่งที่ไม่ดีนั้นจะก่ออันตรายให้เขาได้แค่ไหน
และในยุคที่พ่อแม่อาจต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย ก็ไม่ได้แปลว่า ปู่ย่าตายายจะไม่สามารถทดแทนความเป็นพ่อหรือแม่ได้ อยู่ที่การปรับตัว เรียนรู้เด็กอย่างเข้าใจ ก็จะไม่มีปัญหา ปัจจุบันเราไม่สามารถนำความเชื่อเก่าๆ มาใช้เลี้ยงเด็กได้แล้ว เช่น เลี้ยงลูกต้องตี ยุคสมัยปรับเปลี่ยนไปมาก โซเชียลมีเดียเข้ามามีส่วนสำคัญกับเด็ก ดังนั้น คนเลี้ยงต้องปรับตัวให้ทันสมัยไปด้วย ข้อสำคัญที่สุด คือ การเปิดใจทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และตัวเด็กเอง ต้องเปิดใจเข้าหากัน จะทำให้พฤติกรรมที่ไม่ดีหมดไป. – สำนักข่าวไทย