สธ.15 ก.พ. – กรมวิทย์ฯ เผยผลถอดรหัสพันธุ์โควิดพบไอโมครอนยึดไทย 96.4% ยังคงเป็นสายพันธุ์หลัก (BA1) 81.5%, BA 2 ถึง 18% หวั่นเพิ่มสัดส่วนหลังทั่วโลก ทั้งอินเดีย สวีเดน เดนมาร์ก ติดเชื้อ BA2 เพิ่มสูง จับตาใกล้ชิดเพราะแพร่เร็วกว่าเดิมแต่รุนแรงหรือหลบภูมิต้องติดตาม
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสาตร์การแพทย์ กล่าวถึงผลการตรวจวิเคราะห์เฝ้าระวังสายพันธุ์โอไมครอน ว่า จากการสุ่มตรวจสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,000 คน พบเป็นเชื้อโอไมครอนถึง 97.2% ส่วนที่เหลือเป็นเดลตา 2.8% โดยขณะนี้พบว่าเชื้อโอไมครอนได้กระจายไปทั่วทุกจังหวัดของไทย ซึ่งจังหวัดที่มีการติดเชื้อโอไมครอนมากที่สุดได้แก่ กทม. 6,641 คน ภูเก็ต 1,286 คน ชลบุรี 1,240 คน ร้อยเอ็ด 670 คน สมุทรปราการ 590 คน หนองคาย 534 คน สุราษฎร์ธานี 511 คน มหาสารคาม 508 คน กาฬสินธุ์ 419 คน และขอนแก่น 410 คน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศพบว่า พบการติดเชื้อโอไมครอนถึง 99.4% ส่วนการติดเชื้อโอไมครอนในประเทศ พบโอไมครอน 96.4% อีกไม่นานก็คงถึง 100% เช่นกัน และจากข้อมูลรายงานของ GISAID ที่มีการเก็บข้อมูลการตรวจหาสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน จากประเทศต่าง ๆ พบว่า เป็น BA1 สายพันธุ์หลัก 600,000 คน และเป็น BA2 จำนวน 50,000 คน หรือคิดเป็น 8% และ เป็นBA 3 จำนวน 297 คน ทั้งนี้จะเห็นว่าสัดส่วนของ BA2 ในต่างประเทศเริ่มขยับมากขึ้น ทั้งเดนมาร์ก สวีเดน อินเดีย ทั้งนี้จากการติดตามสายพันธุ์ BA1 และ BA2 พบว่าตำแหน่งจากกลายพันธุ์มีทั้งเหมือนกัน และแตกต่าง เหมือนกัน 32 ตำแหน่ง และแตกต่าง 28 ตำแหน่ง และขณะนี้พบสายพันธุ์ BA2 ใน 57 ประเทศ และเริ่มเห็นแนวโน้มที่ BA2 แพร่เร็วมากขึ้นกว่า BA1 ซึ่งต้องจับตาดูหากสัดส่วนของ BA2 เพิ่มมากขึ้นก็อาจเบียดสายพันธุ์ BA1 ในที่สุด แต่ที่แน่ชัดคือขณะนี้พบว่า BA2 แพร่เร็ว แต่ส่วนตำแหน่งความรุนแรง หรือหลบวัคซีน ยังไม่พบความแตกต่างกัน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยในการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในจำนวน 500 ตัวอย่าง ก็พบเป็น BA1 ถึง 81,5% และ BA2 ถึง 18.5% พบในทั้งคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และในประเทศ ซึ่งเป็นธรรมดาของเชื้อไวรัสที่มีการพัฒนาตามปกติ จึงต้องมีการติดตามเฝ้าระวัง และถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ส่วนเรื่องการพบสายพันธุ์เดลตาครอน ในส่วนของไซปรัส แน่ชัดแล้วว่าเป็นการปนเปื้อน เพราะหากเป็นสายพันธุ์ใหม่จริง ทุกตัวของเชื้อนี้ สัดส่วนของไวรัสในทุกตำแหน่งเหมือนกันทุกตัว แต่ขณะนี้ GASAID มีการถอดเรื่องนี้ออกแล้ว คาดว่าเป็นแค่การปนเปื้อน ส่วนการพบเชื้อเดลตาครอนในอังกฤษ ยังต้องรอการรายงานยืนยันจาก GASAID. -สำนักข่าวไทย