สธ. 14 ม.ค. – สธ.แจง 14 วันหลังปีใหม่ สถานการณ์โควิดทรงตัว พร้อมเผยรอสถานการณ์เหมาะสม พิจารณาลดวันกักตัวเสี่ยงสูงเหลือ 7 วัน จากเดิม 14 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบันที่อัตราการป่วยแค่ 10 วัน แต่ต้องตรวจ ATK 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ 5-6 หากไม่ติดเชื้อกลับมาทำงานได้ และตรวจซ้ำอีกช่วงวันที่ 9-10 เพื่อความมั่นใจ ย้ำเตียงยังพอทุกกลุ่มสี เหลือเกินครึ่งใช้ไปแค่ 30%
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีควบคุมโรค และ นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมการสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ผ่านมา 14 วัน หลังเทศกาลปีใหม่ 2565 ภาพรวมการติดเชื้อสถานการณ์ดีขึ้น แนวโน้มอัตราการติดเชื้อแม้พุ่งสูงขึ้นในช่วงแรก แต่ขณะนี้สถานการณ์ทรงตัว อัตราการเสียชีวิตลดลงไม่ถึง 20 คนต่อวัน ทั้งนี้ หากสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะมีการเสนอต่อ ศบค.ให้ผ่อนคลายมาตรต่าง ๆ แน่นนอน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ต้องถือว่าภาพรวมแผนชะลอการระบาด ควบคุมโรค ถือว่าทำได้ดี อัตราการเสียชีวิต ป่วยหนัก และใส่ท่อช่วยหายใจลดลง และยังได้รับความร่วมมือจากประชาชน ทำให้สถานการณ์การระบาดขณะนี้ทรงตัว แต่ยังต้องเคร่งครัดทั้งมาตรการสาธารณสุข มาตรการการแพทย์ มาตรการสังคม และมาตรการสนับสนุน และต้องปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ด้วย รับวัคซีน ใช้ ATK first ในการตรวจคัดกรองโควิด และเมื่อทราบผลเจ็บป่วยโทร 1330 และใช้การรักษาด้วยระบบ HI และ CI first พร้อมเผยว่าประชาชนยังต้องระมัดระวังตนเอง และรับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยขณะนี้ประชาชนรับวัคซีนไปแล้วกว่า 108,594,504 โดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 51,677,953 โดส หรือคิดเป็น 76% เข็มที่ 2 จำนวน 47,239,275 โดส หรือคิดเป็น 70.3% เข็มที่ 3 จำนวน 9,158,461 โดส หรือคิดเป็น 13.63%
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดลดวันกักตัวในกลุ่มผู้เสี่ยงสูง จากเดิม 14 วัน เหลือ 7 วัน เพื่อให้การทำงานการใช้ชีวิตของประชาชนขับเคลื่อนตามปกติ เนื่องจากพบอัตรารักษาผู้ป่วยประมาณ 10 วัน แต่การกักตัวต้องใช้เวลานาน แต่ที่ยังไม่สามารถประกาศลดวันกักตัวได้ทันที เนื่องจากต้องรอผู้เชี่ยวชาญพิจารณามาตรการเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ ให้ชัดเจนเสียก่อน อีกทั้งขณะนี้อัตราการติดเชื้อแม้จะยังดูเหมือนทรงตัว แต่ยังพบผู้ป่วยจำนวนมาก จึงต้องรอให้สถานการณ์มีความเหมาะสม โดยหลักเกณฑ์คราว ๆ คือ เมื่อเป็นสัมผัสเสี่ยงสูงกักตัว 7 วัน มีการตรวจ ATK 2 ครั้ง ในวันที่ 5-6 หากไม่ติดเชื้อครบ 7 วัน สามารถทำงานได้ตามปกติ และจากวันที่ 9-10 ตรวจ ATK อีกครั้ง 1 เพื่อความมั่นใจ แต่ในระหว่างนั้นต้องเคร่งครัดสวมหน้ากากอนามัย ระยะห่าง
นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การรับวัคซีน และประเมินประสิทธิภาพ พบว่าการฉีดวัคซีนทุกประเภท ทุกสูตร มีประสิทธิผลสูงมาก (90-100%) ในการป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต และการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มประเภทเดียวกัน มีประสิทธิผลสูงพอควรในการป้องกันการติดเชื้อ โดยประสิทธิผลจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปหลังฉีดวัคซีน ส่วนการฉีดเข็มสามในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้นและช่วยควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสามกระตุ้นทั้งสูตรเข็มสาม เป็น AZ และ PF บ่งชี้ว่ายังมีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนได้ 80-90%
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันขณะนี้สถานการณ์เตียงทุกสีมีเพียงพอ ทั้งสีเขียว เหลือง แดง และเมื่อเปรียบกับช่วงที่เริ่มพบโอไมครอน 9 มกราคม และ 13 มกราคม พบว่ามีเตียงเหลือครึ่งหนึ่งทุกสี จากจำนวนเตียงทั้งหมดที่มีรวม 200,000 เตียง ใช้ไปแค่ 30% เท่านั้น พร้อมยืนยันระบบการรักษาใช้ HI CI มีการระบบ VDO Call วันละ 1 ครั้ง หากป่วยหนักก็นำตัวเข้ารักษาในสถานพยาบาล ตอนนี้เพื่อรองรับสถานการณ์การได้มีการประสานเตียงสำหรับหญิงตั้งครรภ์ไว้ด้วย เนื่องจากมีรายงานพบการป่วยในหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด.-สำนักข่าวไทย