สธ. 13 ม.ค. – ผอ.สปคม.ชี้สัดส่วนการติดเชื้อใน กทม.พบทุกเขต ส่วนใหญ่ติดเชื้อในชุมชน และร้านอาหารกึ่งผับ ขณะเดียวกันพบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากกิจกรรมสังสรรค์ปีใหม่ 47 คน พบใน รพ.รัฐ 32 คน รพ.เอกชน 15 คน ออกหนังสือเวียนเตือนให้ระวัง และยังไม่พบการติดเชื้อจากคนไข้ และยังไม่ต้องปิดวอร์ดรักษา
นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กล่าวยอมรับสถานการณ์การติดเชื้อใน กทม.ย่อมเพิ่มขึ้นตามเป็นธรรมดา ส่วนหนึ่งเป็นตามสถานการณ์โรค และอีกส่วนหนึ่งคือคนที่อาศัยอยู่ปริมณฑล เมื่อเจ็บป่วยก็มารักษาใน กทม. พบการติดเชื้อทุกพื้นที่และทุกเขต โดยวันนี้ (13 ม.ค.) กทม.พบผู้ป่วยรวม 939 คน เสียชีวิต 3 คน รักษาหายแล้วกว่า 300 คน
ทั้งนี้ ใน กทม.ส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อในชุมชนและร้านอาหารกึ่งผับบาร์ที่ขออนุญาตปรับปรุงร้าน เพื่อเปิดให้สามารถรับประทานอาหาร และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยสามารถนั่งดื่มได้ถึง 21.00 น.แต่เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท จึงเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ และยังพบเชื้อปนเปื้อนช่องระบายอากาศของเครื่องปรับอากาศ ดังนั้น สปคม.จึงร่วมกับ กทม.สำรวจสุ่มมาตรฐาน Covid free setting และมาตรฐาน SHA+ เป็นระยะ หากพบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และมีการระบาดซ้ำในร้านเดิม ก็จะถอดมาตรฐาน SHA+ และหมั่นทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ
นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันมาดูจำนวนผู้เสียชีวิตใน กทม.ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2564-6 มกราคม 2565 พบว่ามีผู้เสียชีวิตรวม 6,905 คน เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบ 4,266 คน คิดเป็น 61.8% ได้รับวัคซีนครบโดส 940 คน คิดเป็น 13.6 % ซึ่งค่อนข้างต่ำ และไม่ระบุ 1,699 คนคิดเป็น 24.8% ทั้งนี้ ยังพบการติดเชื้อกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 47 คน เป็นการติดเชื้อจากชุมชนหรือบุคคลที่ใกล้ชิด ที่มาจากการสังสรรค์ในเทศกาลปีใหม่ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ ก็เหมือนกันคนทั่วไป ยังไม่ใช่การรับเชื้อจากการเข้ารับบริการของผู้ป่วย แบ่งเป็นบุคลากรใน รพ.รัฐ 32 คน และ รพ.เอกชน 15 คน โดยทั้งหมดรับฉีดเข็ม 3 แล้ว และบางคนฉีดเข็ม 4 แล้ว ทั้งนี้ ขอให้ทำความเข้าใจว่าแม้ฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อได้ แต่ป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งทั้ง 47 คนไม่มีอาการรุนแรง และไม่มีการปิดแผนกของบุคลากรที่ติดเชื้อ
ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้ออกหนังสือแจ้งเตือนให้เพิ่มความระมัดระวังเคร่งครัด ป้องกันควบคุมโรคในสถานพยาบาลมากขึ้น โดยเฉพาะการคัดกรองผู้ป่วยที่มารับการรักษา และกลุ่มผู้ที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน .-สำนักข่าวไทย