สธ. 4 ม.ค. – อธิบดีกรมควบคุมโรคแจงโอไมโครอนจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น อาศัย 3 ปัจจัย คน เชื้อ และสิ่งแวดล้อม เชื้อไม่รุนแรง คนมีภูมิ สิ่งแวดล้อมดี ไม่เสี่ยง ช่วยลดความรุนแรง ย้ำประชาชนมีส่วนช่วยได้ ไม่พาตัวเองไปที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโอไมครอนไทยเข้าสู่ปีที่ 3 เดิมปี 2563 พบการติดเชื้อสายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นการระบาดใหม่ ไม่เร็ว ใช้การควบคุมโรคแบบล็อกดาวน์ ส่วนปี 2564 พบการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา เดลตา เกิดการระบาดเร็วไปทั่วโลก ประชาชนต้องใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล
สำหรับปี 2565 เกิดสายพันธุ์โอไมครอนแพร่เชื้อเร็ว ติดง่าย อาการไม่รุนแรง ส่วนจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ต้องอาศัย 3 ปัจจัย คือ 1.คน 2.เชื้อ และ 3 สิ่งแวดล้อม มีความสมดุลกัน เชื้อไม่รุนแรง คนไม่ตาย ต้องมีภูมิคุ้มกัน ทั้งการรับวัคซีน หรือการป่วยมากตามธรรมชาติ โดยเชื้อโอไมครอนแพร่เร็ว สถานที่ต้องเอื้อไม่เป็นจุดเสี่ยงแพร่กระจาย ขณะนี้มีการเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ให้กับกลุ่มเสี่ยง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อทุกอย่างมีความสมดุลก็สามารถกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งประชาชนมีส่วนช่วยได้ ไม่พาตัวเองไปสถานที่เสี่ยง ทำกิจกรรมเสี่ยง ก็ลดการแพร่ของโควิด
นพ.โอภาส กล่าวว่า ต่างประเทศพบการติดเชื้อโควิด รวมไข้หวัดใหญ่ ก็สามารถเกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ และอาการคล้ายคลึงกัน ทั้งไข้ ไอ เจ็บคอ และอาจเกิดปอดบวมได้ โดยการป้องกัน 2 โรคนี้ไม่แตกต่างกัน เป็นมาตรการป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ช่วยลดเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยประชาชนสามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดได้ ทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิดได้.-สำนักข่าวไทย