ยธ.9 พ.ย.- ล้างมลทินแล้วยังมีชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากร-ถูกปฎิเสธจ้างงาน ยธ.เสนอ ครม.แก้กฏหมายคุ้มครองสิทธิฯ–ปรับระเบียบตำรวจ พิมพ์ลายนิ้วมือ-แยกบัญชีผู้ต้องหา
พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้รับมอบหมายจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้แก้กฎหมาย หรือกฎระเบียบกระบวนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร ให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน หลังจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ศึกษาข้อเท็จจริงและพบว่ากระบวนการจัดเก็บทะเบียนประวัติอาชญากร ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้พ้นโทษไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ และที่ผ่านมาการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูลเชิงบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพเนื่องจากถูกปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน โดยเคยมีกรณีนายจ้างนำประวัติอาชญากรของผู้ร้องที่เคยถูกดำเนินคดีอาญาขณะเป็นเยาวชนมาประกอบการพิจารณาในการรับเข้าทำงาน และถูกปฏิเสธในที่สุด ปัญหาสำคัญที่พบก็คือ ผู้ที่เคยถูกดำเนินคดี ยังคงมีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร แม้ว่าเจ้าตัวจะล้างมลทินจนหมดแล้วก็ตาม
พ.ต.ท.พงษ์ธร กล่าวอีกว่า จะเร่งรัดให้ปรับปรุงประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยให้มีการแยกบัญชีประวัติผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณา และบัญชีบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด รวมถึงบันทึกข้อมูลการล้างมลทินไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากร และให้สำนักงานกิจการยุติธรรมในฐานะเจ้าของร่าง พ.ร.บ.ประวัติอาชญากรรม พ.ศ. …. พิจารณาทบทวนกรณีฐานความผิดที่จำเป็นต้องมีการเปิดเผย หรือกรณีไม่เปิดเผยให้ชัดเจน ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของประวัติอาชญากรรมและการคุ้มครองสังคมให้ชัดเจน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
โดยสกธ.ในฐานะป็นหน่วยงานกลางจะเร่งหารือกับ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกสม. เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต่อไป.-สำนักข่าวไทย