สธ. 5 พ.ย.- อธิบดี คร.แจงสาเหตุ ATK ตรวจนักเรียนให้ผลลวง น่าจะมาจากการจัดเก็บชุดตรวจ หรือ ระหว่างการตรวจเกิดการปนเปื้อน ย้ำต้องเก็บให้ดีห่างแสงแดดและความชื้น ขณะที่ สปสช. เตรียมจัดสรรกระจายชุด ATK ที่จัดซื้อลอต 8.5 ล้านชุดใหม่ หลังพบตกค้างบางพื้นที่และใช้จริงไปแค่ 2 ล้านชุด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการตรวจ ATK ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง จ.มุกดาหาร ว่า เบื้องต้นจากการตรวจด้วย ATK ครั้งแรกพบครู นักเรียน ภารโรง 87 คน ติดเชื้อ แต่เมื่อมีการตรวจซ้ำด้วย ชุดตรวจอื่น ทั้ง Lepu ที่ทาง สปสช. จัดหากลับไม่พบการติดเชื้อ และชุดตรวจ ATK ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร Standard Q ก็ไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน จึงได้มีการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ไม่พบการติดเชื้อ โดยชุดตรวจ ATK ที่ตรวจแล้วพบการติดเชื้อเป็นชุดตรวจที่ทางโรงเรียนจัดหา (DVOT) อย่างไรก็ตาม สำหรับระเบียบและข้อปฏิบัติในสถานศึกษาไม่ได้มีการบังคับให้มีการตรวจ ATK ทุกคน แต่ให้ใช้การสุ่มตรวจ ส่วนอัตราการรับวัคซีนในโรงเรียนดังกล่าวพบว่า ส่วนใหญ่ครูและนักเรียนได้รับวัคซีนแล้ว 1 เข็ม
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับความแม่นยำของ ATK นั้น เมื่อเทียบกับ RT-PCR ย่อมน้อยกว่า แต่ ATK เหมาะสำหรับผู้ที่มีเชื้อมาก และต้องตรวจซ้ำบ่อยๆ โดยการเก็บรักษาเพื่อให้ ATK คงประสิทธิภาพก็มีส่วนสำคัญ โดยต้องเก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น รวมถึงต้องตรวจให้ถูกต้อง เช่น การอ่านผลในช่วงเวลาที่กำหนด 15 นาที ส่วนสาเหตุที่เกิดความผิดพลาดดังกล่าว ที่ให้ผลลวงนั้น คาดว่าน่าจะเกิดจากชุดตรวจที่มาจากเรื่องของการเก็บรักษา หรือการปนเปื้อนระหว่างการตรวจ
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัจจุบันชุดตรวจ ATK ที่ทาง สปสช. จัดหาจำนวน 8.5 ล้านชุด ได้มีการกระจายลงไปในพื้นที่หมดแล้ว และพบว่ามีการใช้ไปแล้วกว่า 2 ล้านชุด โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.อุดรธานี มีการใช้ในการตรวจกลุ่มโรงเรียน อาชีวะศึกษา และพระสงฆ์ ส่วนใหญ่ของการกระจาย ATK พบว่า สามารถกระจายได้ดีในร้านขายยา หรือในกลุ่มภาคเอกชน ดังนั้นเตรียมจัดสรรการกระจาย ATK ใหม่ ให้เป็นแบบ Re-Allocate เพื่อให้เกิดการเข้าถึงได้มากขึ้นและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โดยพบว่า ส่วนใหญ่จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่ มั่นใจในประสิทธิภาพมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่กังวล .-สำนักข่าวไทย