กรุงเทพฯ 28 ต.ค.-สปสช. ชี้ระบบยืนยันตัวตนผู้รับบริการไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด มีการปรับปรุงเพื่อให้หน่วยบริการใช้งานได้สะดวกประชาชนใช้เวลาน้อยที่สุด ให้ใช้งานง่าย ลดภาระบุคลากรโรงพยาบาล ป้องกันการถูกสวมสิทธิ์ เพิ่มความรวดเร็วในการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ และลดภาระการตรวจสอบหลังการจ่าย
น.ส.ศิริพันธ์ เหมืองสิน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพปีงบประมาณ 2565 ว่า ในปีนี้ระบบการพิสูจน์ตัวตนก่อนรับบริการสาธารณสุข หรือที่เรียกกันว่า Authen หรือ Authentication จะมีบทบาทมากขึ้น ซึ่ง สปสช. อยากชี้แจงให้หน่วยบริการต่างๆ เข้าใจว่าระบบไม่ได้มีความยุ่งยากอย่างที่คิด สปสช.พยายามปรับระบบให้ง่าย ลดภาระบุคลากรโรงพยาบาล เพิ่มความรวดเร็วในการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ และลดภาระการตรวจสอบหลังการจ่ายไปได้มาก
น.ส.ศิริพันธ์ กล่าวว่า โดยทั่วๆ ไปแล้ว การ Authentication คือการพิสูจน์ยืนยันตัวตน ซึ่งสามารถใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น บัตรประชาชน พาสเวิร์ด ลายนิ้วมือ หรือม่านตา เป็นต้น รวมทั้งยืนยันตัวตนแบบผสมผสานหรือที่เรียกว่า Two Factor Authen คือแทนที่จะใช้การยืนยันแค่ 1 แบบ ก็ใช้วิธีอื่นมาเป็นเงื่อนไขร่วมด้วยเพื่อให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้บัตรประชาชนร่วมกับลายนิ้วมือ หรือ ใช้หมายเลขโทรศัพท์กับบัตรประชาชน
น.ส.ศิริพันธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ สปสช. จะมีการยืนยันตัวตน 2 ส่วน คือ ถ้ามีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ผู้รับบริการสามารถยืนยันตัวตนผ่าน line หรือผ่านแอปพลิเคชัน “สปสช.” ได้ โดยหน่วยบริการจะพิมพ์ QR Code สำหรับบริการนั้นๆ แล้วให้ผู้รับบริการสแกน เมื่อสแกนแล้วจะได้ Authen Code ไปแสดงให้เจ้าหน้าที่ดูว่าเป็นผู้รับบริการตัวจริง การตรวจสอบสิทธิ์ลักษณะนี้สามารถกระจายตาม Station ต่างๆของหน่วยบริการได้เลย อย่างไรก็ดี ในการใช้งานครั้งแรกต้องมีการลงทะเบียนก่อน 1 ครั้ง จากนั้นครั้งต่อๆไปก็จะสามารถสแกน QR Code แล้วรับ Authen Code ได้เลย
ขณะที่อีกส่วนนั้น หากประชาชนไม่มีสมาร์ทโฟนหรือไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็สามารถใช้บัตรประชาชนยื่นที่หน่วยบริการ หน่วยบริการสามารถใช้ระบบ New Authen ที่ สปสช.ออกแบบไว้มายืนยันตัวตนอีกทางหนึ่ง ซึ่งในส่วนของระบบ New Authen นี้ สปสช.ได้ปรับลดขั้นตอนให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น ลดขั้นตอนการขอ Pin Code จากกรมการปกครอง เนื่องจากเป็นการตรวจสอบข้อมูลจากบัตรประชาชน ทำให้ขั้นตอนการยืนยันตัวตนง่ายและรวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ สปสช.ยังปรับระบบให้ง่ายต่อหน่วยบริการ จากเดิมที่สามารถขอรับรหัสได้ทีละบริการ แต่ประชาชน 1 คนอาจมารับหลายบริการ ดังนั้นจึงพัฒนาฟังก์ชั่น บันทึกร่าง (Save Draft) สามารถเซฟบันทึกก่อนแล้วมาเติมข้อมูลทีหลังได้
ขณะเดียวกัน บันทึกร่าง (Save Draft) ยังสามารถดูรายงานทั้งหมดหลังจากที่บันทึกไปแล้ว และกรณีเด็กบางคนที่ไม่มีบัตรประชาชนก็ยังมีฟังก์ชั่นเพิ่มเติมคือสามารถใส่เลขบัตรประชาชน 13 หลัก ข้อมูลจะแสดงขึ้นมาว่าเป็นใคร แต่ต้องยืนยันตัวตนเพิ่มด้วยการถ่ายรูปเป็นหลักฐาน
“สปสช.มีการลงพื้นที่ติดตามผลการใช้งานระบบการยืนยันตัวตนแบบใหม่ โดยศึกษาจากกลุ่มคลินิกหรือหน่วยบริการขนาดเล็กที่เป็นจิตอาสาในการตรวจคัดกรองด้วย Antigen test kit หรือชุดตรวจโควิด ATK และให้บริการ Home Isolation หรือการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน พบว่าเจ้าหน้าที่ที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน สามารถเรียนรู้และใช้งานได้จริงภายใน 5 นาที ถือว่าเป็นมิตรกับเจ้าหน้าที่มาก ระบบ Authen ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด ขอให้ลองดูก่อน ถ้ามองในมุมกลับจะไม่ทำให้เป็นภาระโรงพยาบาลเพราะถ้ามีผู้มารับบริการนับร้อยคน ถ้าให้ประชาชนยืนยันตัวตนด้วยตัวเอง ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จเรียบร้อย”น.ส.ศิริพันธ์ กล่าว
น.ส.ศิริพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สปสช.พยายาม Customize หรือปรับปรุงเพื่อให้หน่วยบริการใช้งานได้สะดวกมาก สุด ประชาชนใช้เวลาน้อยที่สุด การปรับจากระบบเดิมมาเป็นระบบการยืนยันตัวแบบใหม่อาจจะดูเหมือนยากในช่วงต้น แต่เมื่อยืนยันเรียบร้อยแล้วในครั้งแรกการรับบริการหลังจากนั้นจะสะดวกมาก ไม่ต้องรอตรวจสอบยืนยันตัวตนเพราะข้อมูลของผู้รับบริการแต่ละคนจะถูกส่งเข้ามาในฐานข้อมูล สปสช. เมื่อหน่วยบริการทำการเบิกเงินเข้ามาก็จะมีการ Mapping ข้อมูลผู้รับบริการกับรหัสบริการ สปสช.ก็จะสามารถจ่ายเงินค่าบริการได้เลย เพิ่มความรวดเร็วในการจ่ายเงินขึ้นและลดภาระการตรวจสอบหลังการจ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป สปสช. อาจต้องปรับระบบให้เข้ากับบริบทของโรงพยาบาลแต่ละแห่งซึ่งมี Flow การทำงานที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนได้รวดเร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย