กรุงเทพฯ 21ก.ย.-ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้ายาโมโนโคลนอล แอนติบอดี ค็อกเทล มารักษาโควิด-19 เนื่องจากมีประสิทธิภาพยับยั้งในระบบเซลล์ ใช้รักษาผู้ป่วยหนักมีอาการรุนแรง ผู้สูงอายุ อ้วน โรคเรื้อรัง โดยมีราคา 1โดส 50,000 บาท
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะมีการนำเข้ายาโมโนโคลนอล แอนติบอดี ค็อกเทล เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยวิกฤตหนักโควิด เนื่องจาก อย. มีการรับรองยาดังกล่าวให้ใช้ภาวะฉุกเฉินแล้ว โดยยาฯ ดังกล่าวเป็นการรักษาแบบเฉพาะ ลงไปในระบบเซลล์ ยับยั้งเชื้อไวรัส โดยการใช้ยานี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมากนัก หรือป่วยหนักไม่เกิน 7 วัน
นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ตัวผู้ติดเชื้อลดลง ก็ทำให้หลายคนสบายใจ แต่คาดว่า ในกลางเดือน ต.ค. ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจะค่อยๆทยอยเพิ่มขึ้น มาจากการปรนผ่อนกิจกรรมและกิจการ ที่ได้เปิดขึ้นแล่ว แต่ในจำนวนของผู้ป่วยมี 5% ที่มีโอกาสจะป่วยหนักต้องรับการรักษาในห้อง ICU ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อย่างไรก็ตามหวังว่าสถานการณ์การติดเชื้อของไทย กราฟจะไม่ชันสูงขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการต่างๆ ของสาธารณสุข และความร่วมมือของประชาชน ทั้งสวมหน้ากากอนามัย มีระยะห่างและการหมั่นล้างมือ พร้อมชี้แจงว่า การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความโทษประชาชน ลำพังมาตรการสาธารณสุขอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีมาตรการอื่นร่วมกัน ทั้งเรื่องมาตรการสาธารณสุข การรับวัคซีนอย่างครอบคลุม เพราะโรคนี้เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล โรคนี้ก็ติดอยู่ดี
นพ.กำธร กล่าวว่า การรับวัคซีนไม่ได้หมายความว่าจะไม่ป่วยหรือติดเชื้อ เพียงแต่จะทำให้หากป่วยมีอาการรุนแรงน้อยลง และต้องมียาที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันยาที่มีการใช้กันอยู่นี้ ในส่วนของไทย ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ บางประเทศใช้ เรมดีสซีเวียร์ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในงานวิจัยดูประสิทธิภาพของยาและผลข้างเคียง ยังไม่มีตัวยาไหนดูที่สุด ทุกอย่างมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน และให้ข้อมูลขัดแย้งกัน ดังนั้นการใช้ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี ที่จะมาช่วยยับยั้งการติดเชื้อในระดับเซลล์ก็จะถือว่าตรงจุด เพียงแต่การใช้ยานี้ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากมีราคาแพงจึงจำเป็นต้องมีระบบคัดกรองคนที่จะได้รับยานี้ เช่น เป็นกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรง ผู้สูงอายุ อ้วน เป็นต้น เพราะการเอาชนะโรคโควิดนี้ ลำพัง แค่วัคซีนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีทั้ง มาตรการป้องกันส่วนบุคคล วัคซีนและยา ร่วมด้วย ถือว่าเป็นอาวุธ เพราะในการรักษาผู้ป่วยวิกฤตหนัก ในเวชบำบัดวิกฤตทางเดินหายใจ บางคนรักษาตั้งแต่ 7 วัน บางคน 30 วัน
แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องต้นราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะมีการนำเข้ายาจำนวน 4,000 โดส กระจายให้กับ รพ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน 50 แห่ง ที่ลงทะเบียนแจ้งความต้องการใช้เข้ามา ย้ำว่า ยานี้เป็นทางเลือกที่ไม่ได้ให้กับทุกคน ในส่วนของ รพ.เอกชน อาจจะต้องมีค่าใช้จ่าย ส่วน รพ.รัฐคาดว่าน่าจะมีการใช้เงินของ รพ. หรือเงินบริจาคต่างๆ มาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว เบื้องต้นที่มีการนำเข้ามานั้นราคา 50,000 บาท ต่อโดส 1 คน ใช้ 1 โดส .-สำนักข่าวไทย