กทม. 11 ก.ย.- สธ.จัดสรรวัคซีนโควิด 24 ล้านโดส ต.ค.นี้ ตั้งเป้าฉีดให้ได้ร้อยละ 50 ทุกจังหวัด พร้อมเผยจนถึงขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนเพียง 1 ราย จากที่ได้รับรายงานทั้งหมด 628 ราย ย้ำให้กลุ่มเสี่ยงเร่งเข้ารับวัคซีน เพื่อลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อัปเดตสถานการณ์โควิด และเปิดเผยยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ วันที่ 10 ก.ย. มีผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มอีก 758,503 โดส ทำให้มียอดสะสมตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.64 จำนวน 35,531,341 โดส ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 26,954,546 ราย หรือ ร้อยละ 37.4 ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 12,063,643 ราย หรือ ร้อยละ16.7 พร้อมย้ำประสิทธิผลการฉีดวัคซีนโควิด หากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มโดยเร็ว จะช่วยป้องกันอาการป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตจากโควิดได้ ทั้งนี้ไม่มีวัคซีนชนิดใดที่จะมีประสิทธิผล 100% ในการป้องกันการติดเชื้อ แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส จึงยังจำเป็นต้องเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลต่อไป และจากผลการศึกษาการได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพต่อการป้องกันป่วยรุนแรง (ปอดอักเสบ) อยู่ในระดับสูง รวมทั้งภายหลังการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม เกิน 14 วัน พบมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อและอาการรุนแรงได้ อีกทั้งการฉีดวัคซีนไขว้ ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ได้เร็วขึ้นภายใน 5 สัปดาห์ ตั้งแต่เข็มแรก ฉะนั้นกลุ่ม 608 มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตจากโควิด จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันได้เร็ว ด้วยสูตรวัคซีนไขว้
ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย. พบในวัคซีนซิโนแวค มีอาการแพ้รุนแรงเพียง 24 ราย จากทั้งหมดที่ฉีดไป 15,292,644 โดส ทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว วัคซีนแอสตราเซเนกา พบมีอาการแพ้รุนแรง 6 ราย จากที่ฉีดไปทั้งหมด 15,419,603 โดส ทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกร็ดเลือดต่ำหลังได้รับวัคซีน มี 5 ราย วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ฉีดไปแล้ว 4,330,836 ราย อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียด วัคซีนไฟเซอร์ พบมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย จากที่ฉีดไปทั้งหมด 869,811 โดส ทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว
ขณะที่ผลการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญกรณีเสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีน ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย. พบว่า มีผู้เสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 จำนวน 628 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้พิจารณาไปแล้ว 416 ราย ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 249 ราย เช่น ติดเชื้อในระบบประสาทและสมอง เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองอุดตัน ปอดอักเสบรุนแรง ลิ่มเลือดอุดตันในปอด โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งนี้มีเหตุที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ อีก 32 ราย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกในสมอง ระบบหายใจล้มเหลว และรอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลการชันสูตรศพอีก 9 ราย ส่วนเหตุการณ์ที่สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน มีเพียง 1 ราย มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ สรุปไม่ได้ 12 ราย และรอสรุปผลอีก 122 ราย
นอกจากนี้คณะผู้เชี่ยวชาญ ยังให้คำแนะนำว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำภายหลังได้รับวัคซีน เกิดขึ้นได้น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ถ้าได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบประโยชน์ของวัคซีนในการป้องกันโควิดและป้องกันความรุนแรงของโรคซึ่งมีมากกว่า จึงยังคงแนะนำให้ประชาชนรับวัคซีน ควรเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยได้เร็วขึ้น ลดการเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว เพิ่มการตรวจทางห้องปฏิบัติการและยาสำหรับใช้รักษา สำหรับประชาชนหากมีอาการปวดศีรษะรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยว เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาบวมเจ็บ ปวดท้องรุนแรง หรือพบมีจุดเลือดออก ภายหลังได้รับวัคซีน 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ลดอัตราการเสียชีวิต
ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบภายหลังได้รับวัคซีนโควิด เกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก สามารถรักษาหายได้ หากมีอาการใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอกมาก หายใจหอบ เหนื่อยง่าย หลังฉีดวัคซีนโควิด กลุ่ม mRNA เช่น ไฟเซอร์ แล้ว 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ แจ้งให้ทราบว่าได้รับวัคซีนมา พร้อมเตรียมบัตรนัด หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนไปแสดงด้วย
ขณะที่แผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของไทย ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ จะมีการนำเข้าวัคซีนเข้ามาอีก 24 ล้านโดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตราเซเนกา 10 ล้านโดส และไฟเซอร์ 8 ล้านโดส มีเป้าหมายฉีดให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด อย่างน้อยร้อยละ 50 ของทุกจังหวัด เพิ่มความครอบคลุมในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ให้ได้มากที่สุด และขยายการฉีดไปยังกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน พร้อมฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดซิโนแวค ครบ 2 เข็ม ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2564 รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจและควบคุมการระบาด .-สำนักข่าวไทย