กรุงเทพฯ 30 ส.ค.-สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงเด็กนักเรียนได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากภาวะปกติ หลังผลวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบเรียนออนไลน์ส่งผลเด็กเกิดภาวะเครียด การบ้านเยอะ
จากการวิจัยของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมและผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ พบว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เด็กไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพิ่มขึ้นเป็น 14 ชั่วโมงต่อวัน เพราะส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ นั่งหน้าจอทั้งวันส่งผลกระทบต่อสายตา รับประทานอาหารตามใจทั้งวันเสี่ยงภาวะอ้วน และที่น่าเป็นห่วงเด็กไทยมีกิจกรรมขยับร่างกายลดลงเหลือเพียง 17 % อาจส่งผลต่อการเรียนรู้เเละเจริญเติบโต เด็กอาจติดเป็นนิสัยในอนาคต
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยจากข้อมูลพบว่า ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีผู้ใช้บริการสายด่วน สุขภาพจิต 1323 เพิ่มขึ้นมีจำนวนมาก นอกจากนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลต่อการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละครอบครัวเป็นอย่างมาก เกิดปัญหาส่งผลกระทบรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนซึ่งอาจยังไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ขาดทักษะที่จำเป็นหลายอย่างในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ รวมถึงการเรียนออนไลน์ที่สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนเรียนผ่านหน้าจอ เป็นสิ่งที่แปลกใหม่และมีข้อจำกัดมากมาย สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของทั้งผู้สอนและผู้เรียนอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ใหญ่ในครอบครัวสามารถเป็นแหล่งที่พึ่งทางใจให้เด็กที่กำลังประสบปัญหาได้ โดยช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและปลอบประโลมใจให้ในสถานการณ์เช่นนี้
ขณะที่นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามแผนงานถ้าวัคซีนไฟเซอร์เข้าไทยเดือนตุลาคมจะสามารถฉีดให้กับเด็กๆ อายุ 12 -18 ปีได้ หากนักเรียนระดับชั้นมัธยมและอาชีวศึกษาได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุม เชื่อว่าจะสามารถเปิดการเรียนการสอนตามปกติได้ในภาคเรียนที่สอง ช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือเดือนธันวาคม ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเทอมไว้แล้ว ในส่วนของอาชีวศึกษาขณะนี้พบว่า ร้อยละ 99 ของครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 1 เข็ม และร้อยละ 50 ได้รับจำนวน 2 เข็ม.-สำนักข่าวไทย