กทม. 29 ส.ค. -อธิบดีกรมการแพทย์ไขข้อสงสัยเรื่องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผู้ป่วยโควิด เชิญชวนกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ลดอัตราการตาย-ป่วยหนัก
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยจากการวิเคราะห์ข้อมูลของกรมควบคุมโรค พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน คนที่ฉีดวัคซีนครบ จริงๆ มีน้อยมาก และต้องยอมรับว่าหลังเจอเชื้อเดลตา อาจป้องกันการแพร่เชื้อไม่ได้ หรือได้น้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนยังช่วยลดอัตราการตายและป่วยหนัก ได้ดี โดยเฉพาะที่มีรายงานการศึกษาออกมาแล้วว่า เมื่อฉีดสูตรไขว้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักหรือการตาย ยังพอใช้ได้อยู่พอสมควร อยากเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนไปฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 คือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
จากการรายงานเมื่อเช้าของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าจำนวนของหญิงตั้งครรภ์ที่ไปฉีดวัคซีนยังมีน้อยมาก ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงหลังมีรายงานการเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนพอสมควร จึงอยากเชิญชวนให้ฉีดวัคซีน
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้ว จะมีโอกาสฉีดเข็ม 3 เมื่อไหร่นั้น ขณะนี้คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกำลังพูดคุยกันอยู่ อยู่ระหว่างเตรียมแผนไว้ภายในปีนี้ แต่ทั้งนี้ต้องรอปริมาณวัคซีนเข้ามาเพิ่มเพียงพอ
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการรับรองว่ามียาตัวไหนเป็นยาต้านไวรัสที่มารักษาโควิด-19 ส่วนที่นำยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผู้ป่วยโควิด เนื่องจากเป็นยาต้านไวรัสแบบกว้างที่ใช้รักษาไวรัสหลายตัว ซึ่งจีนได้นำไปใช้กับผู้ป่วยโควิดในช่วงการระบาดแรกๆ ที่อู่ฮั่น ซึ่งจีนมีรายงานการศึกษาออกมาว่า สามารถลดอาการป่วยหนัก และลดวันนอนโรงพยาบาลได้
เมื่อเห็นรายงานของจีน ผู้เชี่ยวชาญของไทยจึงนำมาทดลองใช้ ซึ่งผลการทดลองในช่วงแรก เชื้อยังเป็นเชื้ออู่ฮั่นอยู่ พบว่าเมื่อให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็ว สามารถลดอาการป่วยหนักได้และลดวันนอนโรงพยาบาลได้ จึงนำมาใส่เป็นแนวทางการรักษา และใช้เรื่อยมา
และในช่วงหลังมานี้ เจอเชื้อเดลตา คนไข้มาก ทำให้มีปัญหาเรื่องเตียง ไม่พอ อาจมีเรื่องการให้ยาช้า แต่อาจารย์หลายท่านได้ทบทวนและยืนยืนใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ต่อ. – สำนักข่าวไทย