กรุงเทพฯ 23 ส.ค.-ก.สาธารณสุข พัฒนา รพ.บุษราคัม ทุกด้าน เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างมีคุณภาพ ทั้งเพิ่มรอบทำความสะอาดห้องน้ำ และรอบขนส่งกำจัดขยะติดเชื้อทุกวัน ใช้อุปกรณ์เสริมการขับถ่ายให้เหมาะสมกับผู้ป่วย สำรวจเปลี่ยนเตียงชำรุดทุกวัน รวมถึงปรับปรุงระบบการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่
วันนี้ (23 สิงหาคม 2564) นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัมที่อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อดูแลเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยมีขนาด 3,700 เตียง แต่จากสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นและมีอาการรุนแรงมากขึ้น จึงมีการเปิดหอผู้ป่วยวิกฤติโกเมน 17 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยสีแดงเข้ม และกำลังสร้างหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤติทับทิม 32 เตียง เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้เครื่องช่วยหายใจออกซิเจนไฮโฟลว์
คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนสิงหาคมนี้ ภาพรวมดูแลผู้ป่วยแล้วกว่า 19,000 ราย หายป่วยกลับบ้านแล้วกว่า 15,000 ราย ขณะเดียวกันโรงพยาบาลบุษราคัมได้พัฒนางานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพ ทั้งเรื่องห้องน้ำสกปรก ได้จ้างบริษัทภายนอกมาเพิ่มรอบทำความสะอาด เสริมอุปกรณ์ ได้แก่ ผ้าอ้อมแพมเพิร์ส ส้วมกระดาษ เก้าอี้นั่งถ่าย ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และสนับสนุนกิจกรรมทำความสะอาดห้องน้ำโดยจิตอาสาผู้ป่วย
ส่วนกรณีเตียงกระดาษชำรุด มักพบในเตียงที่ใช้กับผู้ป่วยติดเตียง แต่ยังพบเป็นส่วนน้อย ได้สำรวจเตียงชำรุดทุกวันและเพิ่มจำนวนเตียงใหม่เข้าไปทดแทนให้มากขึ้น เพิ่มฟูกยางกันน้ำและเตียงลมเพื่อช่วยผู้ป่วยติดเตียงป้องกันแผลกดทับ และช่วยยืดอายุการใช้งานของเตียง สำหรับกรณีผู้ป่วยและญาติติดต่อมายังเจ้าหน้าที่ได้ยากนั้น มีการจัดระบบคอลเซ็นเตอร์เพื่อรับโทรศัพท์กรณีผู้ป่วยไม่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ประจำโซนได้ เพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นและประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงทบทวนระบบเบอร์โทรศัพท์ใหม่ให้เป็นปัจจุบัน และเพิ่มช่องทางรับข้อร้องเรียนและข้อเสนอผ่านทางคิวอาร์โคด
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวว่า กรณีมีผู้เสียชีวิตจากเดิมดำเนินการเพียง 2 ช่วงเวลา คือ 07.00 น. และ 15.00 น. จึงได้ติดต่อประสานหน่วยงานและมูลนิธิให้ช่วยบริการเรื่องการเก็บศพตลอด 24 ชั่วโมง จัดการศพผู้ป่วยด้วยความเคารพ โดยเจ้าหน้าที่เวรเปลช่วยเก็บทรัพย์สินที่มีค่า พร้อมถ่ายรูป ลงทะเบียน และส่งมอบตำรวจดำเนินการส่งคืนญาติต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำผู้ป่วยไม่ควรนำของมีค่าอื่นนอกจากโทรศัพท์มือถือมา ส่วนการจัดการขยะติดเชื้อนั้น เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวน 3,000 กว่าราย จึงมีขยะติดเชื้อมหาศาล ซึ่งการดูแลขยะติดเชื้อจะยากกว่าขยะไม่ติดเชื้อ จึงเจรจากับบริษัทผู้ให้บริการขอเพิ่มรอบการขนส่งเพื่อกำจัดขยะติดเชื้อจากสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นดำเนินการทุกวัน.-สำนักข่าวไทย