กทม. 16 พ.ค. – คนกรุงยังไม่คิดมานั่งกินอาหารในร้าน หลัง ศบค. มีมาตรการผ่อนคลายให้นั่งกินอาหารในร้านได้ตั้งแต่พรุ่งนี้ (17 พ.ค.) เป็นต้นไป ส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการซื้ออาหารกลับไปกินที่บ้านปลอดภัย และเหมาะสมกว่า
หลัง ศบค. มีมาตรการผ่อนคลาย อนุญาตให้กลับมานั่งรับประทานอาหารในร้านได้ในอัตราส่วน 1 ใน 4 มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.) เป็นต้นไป บรรยากาศการจับจ่ายซื้ออาหารในวันนี้ยังมีคนออกมาหาซื้ออาหารจากร้านกลับไปกินที่บ้านกันตามปกติ และส่วนใหญ่มองว่าแม้จะมีมาตรการคลายล็อกให้มานั่งกินในร้านได้ แต่เห็นว่าการซื้อกลับไปกินที่บ้าน หรือใช้บริการเดลิเวอรี่ ปลอดภัยกว่า และเริ่มเคยชินกับวิถีชีวิตแบบนี้แล้ว ในอนาคต หากเปอร์เซ็นต์ของผู้ได้รับการฉีดวัคซีนมีเพิ่มขึ้น หรือเกินครึ่งของคนทั้งประเทศ รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละวันลดลง ก็จะมั่นใจกลับมากินอาหารที่ร้านได้เหมือนเดิม
ด้านผู้ประกอบการ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ บอกว่า ยอดขายที่ลดฮวบลงเหลือเพียง 30% การอนุญาตให้มานั่งกินในร้านได้อาจจะช่วยกระตุ้นยอดขายอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวที่ต้องกินร้อนได้เพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่เข้าใจ รายละเอียดมาตรการคลายล็อดนี้ว่าจะนั่งโต๊ะละหนึ่งคนอย่างที่เป็นข่าวอย่างไร เพราะเมื่อมากัน 2-3 คน ก็ย่อมต้องนั่งโต๊ะเดียวกันอยู่แล้ว
กทม.ประกาศขยายเวลาปิดสถานที่ 17-31 พ.ค.นี้
ล่าสุด ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 29) มีเนื้อหาระบุว่า
จากที่ ศบค.ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายกิจการร้านอาหาในพื้นที่ กทม. คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จึงได้ประชุมพิจารณามาตรการผ่อนคลายกิจการร้านอาหาร ให้เป็นไปตามข้อกำหนดฯ แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 23) ที่กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดซึ่งมีมติให้ร้านอาหาร สามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. โดยนั่งได้ไม่เกิน 25% ของจำนวนที่นั่งปกติ จำหน่ายอาหารแบบนำไปบริโภคที่อื่นได้ (Take way) ไม่เกิน 23.00 น. ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน และให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
และยังคงปิดสถานที่ตามประกาศกรุงเทพมหานครปิดสถานที่ เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) และ(ฉบับที่ 26) ต่อไป มีผลตั้งแต่วันที่ 17-31 พ.ค. 64 ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 29)
ผู้ฝ่าฝืนอาจมีความผิดตาม ม.52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิด ม.18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ. – สำนักข่าวไทย