กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – รอง ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป ย้ำประชาชนรีบมารับวัคซีนโควิด-19 ไม่ต้องกลัว ฉีดไปแล้วล้านโดสไม่มีใครแพ้วัคซีนจนเสียชีวิต
รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ย้ำขอให้มารับวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุด ไม่ต้องกลัวผลข้างเคียงหรือแพ้วัคซีนจนเสียชีวิต ชี้ตอนนี้ฉีดไปแล้ว 1 ล้านโดส ไม่มีใครเสียชีวิต แต่ติดโควิดตายไปแล้วหลายคน ส่วน 7 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วยในช่วงนี้ แนะให้ฉีดห่างจากวัคซีนโควิด 1 เดือน
พญ.สุชาดา เจียมศิริ รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวผ่าน Facebook Live ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในหัวข้อ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่ดียังไง? ใครกันนะที่ต้องฉีด ถ้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยได้รึเปล่า” โดยระบุว่า ในช่วงนี้ สปสช.ได้เริ่มฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรีให้แก่ 7 กลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็กอายุ 6 เดือน-2 ปี มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคอ้วน เป็นต้น ซึ่งจะคาบเกี่ยวกับการที่รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในช่วงนี้ด้วย
พญ.สุชาดา กล่าวว่า ข้อแนะนำในการรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ จริงๆ แล้วฉีดอะไรก่อนก็ได้ แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ระบาด ควรฉีดวัคซีนโควิดก่อน เพราะวัคซีนโควิดต้องฉีด 2 เข็ม เมื่อรับเข็มแรกแล้ว ระหว่างรอฉีดเข็มที่ 2 ก็สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ถ้ายังไม่ถึงคิวนัดฉีดวัคซีนโควิด ก็สามารถรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนก็ได้เช่นกัน
“ถ้าฉีดวัคซีน 2 ชนิด ระยะห่างดีที่สุด คือ 1 เดือน เช่น รับวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้ว อีก 1 เดือน ค่อยไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แล้วจากนั้นค่อยไปรับวัคซีนโควิดเข็มที่ 2 ซึ่งในส่วนของวัคซีนโควิดแต่ละยี่ห้อก็จะเว้นระยะต่างกันออกไปอีก อย่างเช่น ซิโนแวค แนะนำระยะห่างเข็มแรกและเข็มที่สอง 3-4 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นแอสตราเซเนกา ที่จะฉีดในกลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ด้วย จะเว้นนาน 3 เดือน ดังนั้น รับเข็มแรกแล้ว จากนั้น 1 เดือน ก็ไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้” พญ.สุชาดา กล่าว
พญ.สุชาดา กล่าวอีกว่า วัคซีนไม่ว่าจะสำหรับโรคใดก็ตาม เมื่อฉีดแล้วต้องอยู่ในโรงพยาบาล รอดูผลข้างเคียงอย่างน้อย 30 นาที และวัคซีนทุกชนิดมีโอกาสที่จะมีคนมีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังฉีดวัคซีนได้ทั้งหมด ไม่จำกัดแค่วัคซีนโควิดอย่างเดียว รวมทั้งมีโอกาสอาจมีปฏิกิริยาที่สัมพันธ์กับความเครียดจากการฉีดวัคซีน (ISRR) ได้หมด ซึ่งในส่วนของวัคซีนโควิดก็มีหลายคนที่ฉีดแล้วเกิดอาการ ISRR แต่สุดท้ายก็กลับมาปกติหมด ดังนั้น หากฉีดวัคซีนแล้วมีอาการผิดปกติ ต้องดูว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ ไม่จำเป็นต้องมาจากอาการไม่พึงประสงค์แต่เพียงอย่างเดียว
“หากฉีดเข็มแรกแล้วมีอาการ ISRR และผู้รับวัคซีนกังวลที่จะฉีดเข็มที่ 2 จะเปลี่ยนไปฉีดอีกยี่ห้อก็ได้ แต่ตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลว่า การเปลี่ยนยี่ห้อในเข็มที่ 2 จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้ามั่นใจว่าเป็น ISRR จะใช้วัคซีนเดิมก็ได้ เพราะเป็นผลจากจิตใจ” พญ.สุชาดา กล่าว
ขณะที่อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังฉีดวัคซีนหรือแพ้วัคซีน เช่น หอบหืด ผื่นขึ้น หน้าบวม เป็นผื่นเฉพาะที่ หมดสติ ช็อก อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้และไม่มีผลในระยะยาว และโอกาสเกิดการแพ้รุนแรงมีน้อยมาก จากการฉีดวัคซีนต่างๆ 1 ล้านโดส จะเจอประมาณ 2-3 กรณีเท่านั้น ส่วนกรณีของวัคซีนโควิด ขณะนี้ฉีดไปแล้ว 1 ล้านโดส ไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว ส่วนคนที่แพ้ก็อาการดีขึ้นหมดแล้ว อย่างไรก็ดี หากฉีดเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้ ควรต้องปรึกษาแพทย์ในเข็มที่ 2 ว่าจะวางแผนอย่างไร เพราะอาการแพ้มีโอกาสเกิดกับเข็มที่ 2 เช่นกัน
พญ.สุชาดา กล่าวถึงผู้ที่ไม่มั่นใจในการรับวัคซีนโควิดด้วยว่า วัคซีนที่นำมาฉีดในไทย มีการใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก และในไทยก็ฉีดกันไปหลักล้านโดส ยังไม่พบใครที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ขณะที่โควิดมีผู้เสียชีวิตแล้วหลายราย ยังไม่รวมที่อยู่ในห้อง ICU อีก ดังนั้น ความเสี่ยงของโรคโควิด น่ากลัวกว่าความเสี่ยงที่เกิดจากอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนมาก
นอกจากนี้ วัคซีนที่นำมาใช้เป็นวัคซีนที่มีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน อย่างเช่น วัคซีนแอสตราฯ ส่งไปตรวจสอบคุณภาพถึงยุโรป ดังนั้น ขอให้มั่นใจได้ ส่วนเรื่องประสิทธิภาพ อย่างเช่น วัคซีนซิโนแวค ที่มีการบอกว่ามีประสิทธิภาพต่ำแค่ 50% จริงๆ แล้วตัวเลขเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวิธีการทำวิจัย แต่ถ้าเอาทุกยี่ห้อมาเทียบกันแล้ววัดว่าสามารถป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันการป่วยรุนแรงได้มากน้อยขนาดไหน ทุกยี่ห้อประสิทธิภาพ 80-90% เหมือนกัน
“ขอให้ท่านรีบมาฉีดวัคซีน ตอนนี้เราต้องรักษาชีวิต ลดอาการป่วยรุนแรงไว้ก่อน ดังนั้น วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้เร็วที่สุด” พญ.สุชาดา กล่าว. – สำนักข่าวไทย