รร.รอยัลออร์คิด เชอราตัน 30 มี.ค.-ป.ป.ส.ร่วม UNODC สกัดลักลอบนำเข้าสารตั้งต้น-เคมีภัณฑ์เข้าสามเหลี่ยมทองคำ
พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พร้อมนายเจอรามี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ร่วมเปิดประชุมหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายด้านการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการป้องกันลักลอบนำเข้าและการค้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์มาใช้ในการผลิตยาเสพติด
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า ไทยถูกใช้เป็นทางผ่านในการนำเข้าสารดังกล่าวเข้าไปในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและคาดว่าในปลายปีนี้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เบื้องต้นจะปรับปรุงการจัดการสารตั้งต้นที่ควบคุมในระดับสากลได้อย่างไร รวมทั้งการจัดการปัญหาเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าสารตั้งต้นเข้าไปที่ในพื้นที่ผลิตยาเสพติด
สำหรับข้อสรุปที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ ป.ป.ส.และ UNODC จะนำไปจัดทำเป็นกรอบการทำงานด้านการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือ ในการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ของไทยและกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไป
ด้านนายดักลาส กล่าวว่า UNODC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและภูมิภาคจะเน้นหารือด้านมาตรการป้องกันการไหลเข้ามาของสารเคมีที่เพิ่มขึ้นและความหลากหลายของสารเคมีอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งพบว่ามีกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้องกับการผลิตยาเสพติด เราพบว่ามีการจับกุมยาบ้าเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี 2019 การจับกุมสูง 143 ตันและเพิ่มขึ้นอีกปี 2020 อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลชี้ว่า เมทแอมเฟตามีนจากสามเหลี่ยมทองคำที่ยึดได้จากทั่วทั้งภูมิภาค ส่วนใหญ่เป็นซูโดรอีเฟดรีนและ P-2-P และ ตัวเลขการยึดสารเคมีตั้งต้นที่ถูกควบคุมในระดับสากลเหล่านี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากในภูมิภาค
นายดักลาส กล่าวว่า กลุ่มอาชญากรรมที่จัดตั้งขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีข้อได้เปรียบที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อมีการจัดหาและค้าสารเคมี ล่าสุดมีข้อมูลยืนยันว่ามีการลักลอบขนเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นส่งจำนวนมหาศาลเข้าไปในพื้นที่ที่มีการควบคุมโดยกองกำลังทหารในพื้นที่ รวมทั้งการนำเข้ามาไทย และ สปป.ลาว ผ่านเข้ามาทางลำน้ำโขงโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายแดนและช่องทางการค้า และปัจจุบันผู้ผลิตสารเคมีที่ใหญ่ที่สุดคือจีนและอินเดีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบว่าอุตสาหกรรมเคมีได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะกล่าวว่าสามเหลี่ยมทองคำยังเป็นพื้นที่เสี่ยงมากกว่าเดิมในการผลิตยาเสพติด.-สำนักข่าวไทย