กระทรวงแรงงาน 21 ธ.ค.-รมว.แรงงาน สั่งเร่งตรวจโควิดในโรงงาน จ.สมุทรสาคร จำกัดวงแพร่ระบาด ยืนยันยังไม่เปิดนำเข้าแรงงานรอบใหม่ พร้อมเตรียมของบ สปส.1 พันล้าน จัดชุดตรวจเคลื่อนที่ ส่วนแรงงานที่ถูกสั่งหยุดงาน ล่าสุดได้เงินชดเชยเหตุสุดวิสัย ร้อยละ 50 ไม่เกิน 90 วัน พร้อมกำชับมาตรการเฝ้าระวังในโรงงานเข้มข้น
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)
กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนจากสถานทูตเมียนมา
รมว.แรงงาน กล่าวว่า มาตรการเชิงรุก ที่จะเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนขณะนี้ คือการตรวจหาเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ประกันตน ทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานต่างด้าว ในสถานประกอบการ จังหวัดสมุทรสาคร ที่กำลังมีความเสี่ยงสูงจากตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุด โดยวางแผนประสานกับโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมใน จ.สมุทรสาคร 8 แห่ง จัดทีมแพทย์พร้อมรถโมบาย ออกตรวจเชิงรุก ให้รู้ผลทันทีภายใน 2-3 ชั่วโมง ซึ่งวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค.)จะเรียกประชุมบอร์ดการแพทย์ เพื่อขอให้พิจาณาอนุมัติงบประมาณจากสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตรวจคัดกรองแรงงานในจ.สมุทรสาคร ประมาณ 2.5 แสนคน เพราะผู้ประกันตนในระบบเหล่านี้ เมื่อเจ็บป่วย มีสิทธิรักษาพยาบาลได้ฟรีอยู่แล้ว หากตรวจพบจะได้ทำการรักษาและจำกัดวงการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ล่าสุดที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมวันนี้ ยังอนุมัติเงินทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ให้กับผู้ประกันตน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว หากอยู่ในพื้นที่ที่ภาครัฐประกาศเป็นพื้นที่แพร่ระบาด เช่น จ.สมุทรสาคร จะได้รับเงินทดแทน ร้อยละ 50 ของรายได้ แต่ไม่เกิน 90 วัน
“แม้ตอนนี้หลายโรงงานใน จ.สมุทรสาคร จะยังไม่ปิด แต่คนงานในพื้นที่อาจจะเข้าไปทำงานไม่ได้ เพราะถูกซีลพื้นที่ เช่น แรงงานในตลาดกุ้งและหอพักศรีเมือง ที่เป็นชุมชนแรงงานจะได้รับเงินชดเชยในกรณีนี้ด้วย” รมว.แรงงาน กล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุมวันนี้จะมีการหารือเรื่องการตั้งชุดเฉพาะกิจ โดยกระทรวงแรงงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จัดชุดเฉพาะกิจ ออกตรวจสอบรายงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ตามที่พัก สถานประกอบการ และตามท้องถนน เบื้องต้นจะเน้นพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดสมุทรสาครที่กำลังมีการแพร่ระบาด
ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการเปิดนำเข้าแรงงานแบบ MOU เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายนั้น รมว.แรงงาน ยืนยันว่า จะยังไม่มีนโยบายนำเข้าแรงงานในช่วงนี้หลังหยุดนำเข้า งานประเภทมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid ยังรุนแรง และเราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ขณะที่การต่ออายุแรงงานแบบ MOU เดิมที่หมดอายุเมื่อปีที่ผ่านมาก็พบว่ามีการต่อมากถึง 2.3 ล้านคนจากเดิม 2.7 ล้านคนจึงเชื่อว่าแรงงานที่มีอยู่ตอนนี้เพียงพอต่อความต้องการ .-สำนักข่าวไทย