สสส.5 ต.ค.-สสส.เปิดเวทีระดมข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องเด็กปฐมวัย อย่างมีส่วนร่วม เน้นเฝ้าระวัง-ป้องกัน-เยียวยา ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในรั้วโรงเรียน แก้ต้นตอปัญหาเด็กเล็กถูกทำร้ายกาย-ใจ
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีระดมข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย หัวข้อ “ผ่าตัดนโยบายให้เด็กปฐมวัยมีพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างสรรค์และปลอดภัย” สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ขับเคลื่อนสู่กลไกระดับชาติภายใต้ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว(สสส.) กล่าวว่า วันที่ 9 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีกำหนดจะจัดประชุมเพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงคาดหวังว่าข้อเสนอเชิงนโยบายที่ภาคประชาชนระดมสมองร่วมกันในวันนี้ จะเป็นข้อมูลนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อเป็นการสะท้อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มีความห่วงใยต่อปัญหาการดูแลเด็กปฐมวัย
“โจทย์ใหญ่ในสังคมไทยตอนนี้คือการเป็นสังคมสูงวัย ทำให้ต้องเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและช่วยดูแลสังคมเราต่อไป ซึ่งจะต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกัน เยียวยา ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก เร่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็กปฐมวัยอย่างถ้วนหน้า รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2561 พบว่าเด็กวัยอนุบาลคือกลุ่มวัยที่ถูกอบรมด้วยการทำร้ายร่างกายมากกว่าเด็กวัยอื่นๆ เสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลทางใจ ซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ สมอง และพัฒนาการของพวกเขาในระยะยาว
นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก และผู้บริหารไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย)กล่าวว่า เด็กอนุบาล ซึ่งเป็นวัยที่ควรเน้นเรียนรู้ผ่านการเล่นและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ หากในเมืองไทยมีนโยบายกำหนดให้ครอบครัว โรงเรียน หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีส่วนร่วมในการดูแลเด็กด้วยกันในทุกมิติ เชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เด็กถูกทำร้ายเหมือนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่ปรากฏเป็นข่าว
น.ส.เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ผู้สมัครเข้าร่วมเวทีระดมข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กอาจเกิดจากค่านิยม “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการเลี้ยงดูเด็กด้วยความรุนแรงจะทำให้เด็กเกิดความกลัว ฝังใจกับสิ่งที่ถูกกระทำ และยังมีผลต่อพัฒนาการทั้งทางกายและใจ ซึ่งการจะลบค่านิยมเหล่านี้จะต้องปรับที่ผู้ใหญ่ทุกคน โดยปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก และปลูกฝังแนวทางการเลี้ยงดูเด็กด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์และปลอดภัย
รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวช เวชศาสตร์ครอบครัว กล่าวว่า 8 ตุลาคมนี้ เวลา 14.00 น. จะยื่นมาตรการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ทุกโรงเรียนประกาศนโยบายไม่ทำร้ายเด็ก ทั้งทางกายและการทำให้สูญเสียตัวตน หากผู้บริหารเอาจริง เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ออกเป็นกฏและให้ครูทุกคนเซนต์รับทราบ ทั้งนี้อยากให้เปลี่ยนวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่ว่า เด็กต้องเจ็บตัวถึงจะเป็นคนดี ออกจากสังคมไทย ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง อยากให้ออกกฏ เกี่ยวกับการรับแจ้งเหตุหากพบเห็นความรุนแรง ต้องแจ้งเหตุหากเพิกเฉย คือการทำผิดเอง และไม่รับผู้ที่ทำผิดกลับเข้าทำหน้าที่ครูอีก อยากให้ออกเป็นกฏ ให้ทุกโรงเรียนนำไปใช้ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง ให้ประกาศเลยว่า โรงเรียนนี้จะไม่ทำร้ายเด็ก การตีจะทำให้เด็กไม่เรียนรู้ ขัดขวางจินตนาการเด็ก อยากให้เปลี่ยนการลงโทษเป็นการสร้างวินัยเชิงบวกแทน
น.ส.กรองทอง บุญประคอง ผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์(ปฐมวัย) กล่าวว่า ผู้ได้รับใบอนุญาต ให้ก่อตั้งโรงเรียนปฐมวัยหรือ อนุบาล คือส่วนสำคัญ ต้องเข้าใจการศึกษาของเด็กประถมวัย และต้องรู้จิตวิทยาเด็ก เพื่อสร้างเด็กให้เรียนรู้อย่างมีความสุขไม่เผลอไปทำลายและทำร้ายเด็ก เรื่องความรับผิดชอบทางกายและใจของเด็กต้องเป็นหัวข้อสำคัญในการประเมินโรงเรียนว่ามีสิทธิจะทำโรงเรียนอนุบาลหรือไม่ ตรงไปที่ผู้ได้รับใบอนุญาตที่จะเปิดโรงเรียนอนุบาลภาครัฐต้องเพิ่มความเข้มแข็งในการบังคับใช้ด้วย และให้ข้อคิดเลยว่า หากโรงเนียนอนุบาลมีนโยบายว่า ต้อง อ่านออก เขียนได้ เร่งเรียน เขียน อ่าน ให้ต้องสมมุติฐานได้เลยว่า อาจเกิดความรุนแรงได้ไม่มากก็น้อย เพราะครูจะต้องบังคับเด็กให้ทำได้ตตามมาตรฐาน
ขณะที่ น.ส.อภิสินี จรัลชวนะเพท ผอ.อนุบาลบ้านรัก ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาอนุบาล กล่าวว่า ในช่วงอายุที่เด็กยังไม่ขึ้นประถม ครูต้องทำหน้าที่แม่ครูให้เป็นต้นแบบ หรือให้เป็นแรงบันดาลใจของเด็ก คนๆนี้ต้องเก่งมาก ต้องเป็นสาระสำคัญที่บรรจุในอนุบาล เป็นการศึกษาแนวมนุษยปรัชญา ยกเลิกใช้คำว่า โรงเรียนอนุบาล เป็น อนุบาล เพื่อให้เด็กได้มาเรียนรู้ทักษะพื้นฐานการใช้ชีวิต มากกว่าการเร่งเรียน เขียน อ่าน .-สำนักข่าวไทย