ดีเอสไอ 28 ก.ย.-“ศรีสุวรรณ” ร้องดีเอสไอ เอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม – ผู้บริหาร รฟม.เจ้าของโครงการ ชี้พบพิรุธกรณีเปลี่ยนแปลง TOR ชี้อาจเข้าข่ายฮั้วประมูล
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือ ต่อพ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ให้ตรวจสอบกรณีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคา(TOR) ของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งมีวงเงิน สูงถึง 128,128 ล้านบาท
โดยนำเอกสาร 1แฟ้มขนาดใหญ่ ประมาณเกือบ1,000 หน้า ประกอบด้วยมติคณะรัฐมนตรี, มติสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และมติของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง , เงื่อนไขเอกสารประกวดราคา (TOR) ฉบับเดิม ฉบับแก้ไขเปลี่ยนแปลง รวมทั้งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่มีแนวทางคล้ายกับกรณีนี้
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท ได้มีมติเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2563 เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) หลังมีการซื้อขายซองประกวดราคาเสร็จสิ้นแล้วทั้งหมด 10 บริษัท โดยพบข้อพิรุธหลายประการ โดยเฉพาะกรณีมีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งยื่นซองประมูลโครงการฯได้ยื่นขอให้มีการเปลี่ยนแปลง TOR และคณะกรรมการฯ รับข้อเสนอจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว หรือเงื่อนไข TOR ที่ตามหลักกฎหมายไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเองได้ต้องเป็นไปตามระเบียบทางราชการ พร้อมรับฟังความเห็นต่างๆของผู้มีส่วนได้เสีย และต้องยื่น ครม. มีมติเห็นชอบ โดยต้องถือประโยชน์ของรัฐมากที่สุด
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการพิจารณาจะแยกซองเทคนิคหากผ่านตามเกณฑ์จึงจะเปิดซองการเงินตามลำดับ แต่การประกวดครั้งนี้กลับนำซองเทคนิคมาคิดคะแนนรวมกับซองราคา โดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนน 30/70 หากรายใดได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะได้รับการคัดเลือกเป็นการให้น้ำหนักในการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกได้มากกว่าแบบเดิม ซึ่งจะทำให้ได้ผู้ชนะการประมูลอาจไม่ใช่ผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดต่อรัฐ และเป็นช่องทางให้รัฐเสียประโยชน์ และอาจเป็นโอกาสให้เอกชนมาวิ่งเต้นหรือเอกชนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีอำนาจก็สามารถที่จะโน้มน้าวเปลี่ยนแปลง คะแนนเทคนิคหรือคะแนนราคาจนชนะได้
ดังนั้น เห็นว่า คณะกรรมการฯ รับพิจารณาและมีมติเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว ส่อพิรุธหลายประการ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระ สำคัญ และไม่เคยมีการดำเนินการลักษณะเช่นนี้กับโครงการขนาดใหญ่ ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาก่อน
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ จึงนำหลักฐานๆ มามอบให้ ดีเอสไอ ตรวจสอบเพื่อเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 และผู้บริหารการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม. )ในฐานะเจ้าของโครงการ ว่ามีพฤติการณ์ที่อาจจะเข้าข่ายหฮั้วประมูล ตามความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่
“ข้ออ้างของคณะกรรมการ หรือ รฟม. ออกมาบอกว่าเนื่องจากโครงการนี้ส่วนหนึ่งต้องก่อสร้างใต้ดินลอดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ที่ผ่านมารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็สร้างลอดแม่น้ำเจ้าพระยาและยังใช้งานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขTORใดๆ หรือไม่มีเงินไขในการเปิดซองที่จะต้องรวมซองเทคนิคกับซองราคาไว้ด้วยกันเหมือนกรณีครั้งนี้ ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย จึงน่าจะเข้าข่ายความผิดกฎหมายหลายฉบับและหลายมาตรา”นายศรีสุวรรณ กล่าว
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ ระบุว่าจะนำเรื่องไปตรวจสอบว่าเข้าข่ายตามกฎหมายพิเศษของดีเอสไอหรือไม่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบเอกสารทั้งหมดก่อน .-สำนักข่าวไทย