อภ.เผยแนวโน้มดี ใช้กัญชาทางการแพทย์

กรุงเทพฯ 7 ก.ย..-องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เผย ผลขั้นต้นการศึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ เป็นไปในทิศทางดี ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพบแนวโน้มว่าการใช้ THC ร่วมกับ CBD น่าจะให้ผลดีต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็ง และ มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองต่อไป


ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่าจากที่องค์การฯได้กระจายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ให้กับระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ผ่านโครงการวิจัยและคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลต่าง ๆทั้งภาครัฐและเอกชน มาตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งองค์การฯได้มีการติดตามประสิทธิผล

ล่าสุดได้มีการรายงานผลการศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ขององค์การฯ โดยการศึกษาในกลุ่มโรคและภาวะที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ โดยสถาบันประสาทวิทยา และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ติดตามประสิทธิผลการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา GPO CBD เด่น ในผู้ป่วยเด็กโรคลมชักรักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา (intractable epilepsy) 16 ราย ผลการศึกษาพบว่าสามารถควบคุมอาการชักในผู้ป่วย 10 ราย (62%) และผลการประเมินของผู้ดูแลคิดว่าอาการชักดีขึ้น โดยมีคะแนนประเมินเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 คะแนนจากคะแนนเต็ม 7 คะแนน
นอกจากนั้นสถาบันประสาทวิทยายังได้ติดตามประสิทธิผลการใช้ GPO THC:CBD (1:1) ในการรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน จำนวน 7 ราย จากการประเมินโดยแพทย์มีผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นจำนวน 5 ราย ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินโดยผู้ป่วยว่าอาการเกร็งและอาการปวดดีขึ้นหลังได้รับสารสกัดกัญชา โดยมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน


ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (palliative care) ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ดำเนินโครงการการวิจัยเพื่อติดตามความปลอดภัยและประสิทธิผลกัญชาทางการแพทย์ ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 14 ราย และได้รับผลิตภัณฑ์ GPO THC:CBD (1:1) เฉลี่ยอยู่ที่ 1-3 หยดต่อวัน ต่อเนื่อง 3 เดือน
พบว่าอาการปวดของผู้ป่วยดีขึ้น โดยมีระดับอาการ (pain score) ลดลงกว่า 50% จากตอนเริ่มต้น มีความอยากอาหารและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีอาการนอนหลับดีขึ้น อย่างไรก็ต้องมีการติดตามการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งอย่างใกล้ชิด รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมในด้านประสิทธิผลและความคุ้มทุนของแต่ละสภาวะปัญหา
ในส่วนของการศึกษาในผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งจัดอยู่กลุ่มโรคและภาวะที่น่าจะได้ประโยชน์ โรงพยาบาลสกลนครได้ดำเนินติดตามผลการรักษาและความปลอดภัยในผู้ป่วยพาร์กินสัน 16 ราย จากการประเมินความสามารถทางความคิด กิจวัตรประจำวัน และความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยหลังจากได้รับผลิตภัณฑ์ GPO THC:CBD (1:1) เป็นเวลา 3 เดือนพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและส่วนใหญ่มีการนอนหลับและคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยไม่พบผลกระทบต่อความจำของผู้ป่วย แม้ว่าผลการศึกษาเบื้องต้นจะมีแนวโน้มในทางที่ดี แต่ควรมีการศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยพาร์กินสันในระยะยาวต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม ยังกล่าวต่อไปว่า ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคและภาวะที่อาจจะได้ประโยชน์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ดำเนินการวิจัยประสิทธิผลของสารสกัดกัญชาต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองโดยใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ขององค์การเภสัชกรรม พบว่า THC และ CBD มีผลต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งแตกต่างกัน และพบแนวโน้มว่าการใช้ THC ร่วมกับ CBD น่าจะให้ผลดีต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม ตับอ่อน และท่อน้ำดี ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองต่อ

ส่วนผลของคลินิกกัญชาทางแพทย์ ของกรมการแพทย์ ที่ให้บริการสำหรับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย โดยมีการใช้ GPO THC ขนาด 0.5-5 mg ต่อวัน ควบคู่ไปกับการใช้ยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่เดิมร่วมด้วย จากการประเมินในผู้ป่วย 42 รายที่มีการติดตามครบระยะเวลา 1 เดือน พบว่าอาการปวด เบื่ออาหาร และนอนไม่หลับดีขึ้น แสดงให้เห็นว่า การใช้ THC ในขนาดต่ำๆ มีความปลอดภัยและสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้ และจากการติดตามผลการใช้กับผู้ป่วยที่มาใช้บริการของคลินิกกัญชาทางแพทย์ ของสถานพยาบาลต่างๆ ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ฯลฯ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง

“อย่างไรก็ตามผลการศึกษาที่ได้รับรายงานมานั้นเป็นเพียงผลการศึกษาในขั้นต้นเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าผลการใช้เป็นไปในทิศทางที่ดี ช่วยลด บรรเทาอาการ ต่าง ๆได้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์องค์การเภสัชกรรม ซึ่งยังคงต้องดำเนินการศึกษาในจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น และติดตามประสิทธิผลการใช้และความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งนี้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรมเป็นผลิตภัณฑ์เกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade ที่คำนึงถึงความปลอดภัย (Safety) มีสารสกัดที่มีสารออกฤทธิ์ของยาสม่ำเสมอ (Consistency) และมีประสิทธิภาพ (Efficacy) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม กล่าวในตอนท้าย .-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ผ่าไชน่า เรลเวย์ คว้า 3 โครงการรัฐในภูเก็ต

เหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม กลายเป็นปฐมบทในการปูพรมตรวจสอบบริษัท ไชน่า เรลเวย์ หลังพบเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการก่อสร้างตึก สตง. และโครงการรัฐหลายแห่งทั่วประเทศ ล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต ตรวจพบ 3 โครงการ และหนึ่งในนั้นกำลังมีปัญหาก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

มหาสงครามโลก

นักวิชาการชี้ “มหาสงครามโลกครั้งที่ 3” เกิดแน่ถ้าโลกยังตึงเครียด

นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศระดับแนวหน้าของไทย มีความเห็นตรงกันว่า หากผู้นำชาติมหาอำนาจไม่เร่งลดระดับความตึงเครียดสถานการณ์โลก

กู้ภัยนานาชาติ เครือข่าย USAR ถอนกำลังแล้ว

กู้ภัยนานาชาติ เครือข่าย USAR ถอนกำลังแล้ว หลังอยู่ปฏิบัติภารกิจค้นหา-กู้ชีพ สนับสนุนกู้ภัยไทย เหตุตึก สตง.ถล่ม กว่า 1 สัปดาห์

ธรรมชาติใต้ดินเปลี่ยนไป หลังแผ่นดินไหว 1 สัปดาห์

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ แม้บนพื้นผิวดินจะไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่พบความเปลี่ยนแปลงสภาพใต้ดินจนเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งหลุมยุบขนาดใหญ่ น้ำพุร้อนที่เคยพุ่งจากใต้ดินหายไป แต่น้ำตกที่แห้งในหน้าแล้งกลับมีน้ำไหลออกมา ซึ่งนักธรณีวิทยายืนยันเป็นผลพวงจากแผ่นดินไหวครั้งนี้

ข่าวแนะนำ

รถบัสรับส่งพนักงานพุ่งตกคูน้ำ เจ็บ 21

รถบัสรับส่งพนักงานพุ่งตกคูน้ำ ถนนสายเอเชีย ขาขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้บาดเจ็บ 21 คน คาดคนขับหลับใน เบื้องต้นยังไม่พบตัว

เน้นเครื่องจักรหนักเข้าถึงโซน B, C คาดมีผู้ติดค้างจำนวนมาก

ฝนตกหนักช่วงเช้า เพิ่มอุปสรรคค้นหาผู้ประสบภัย และการรื้อซากอาคาร สตง.ถล่ม เจ้าหน้าที่ทุกส่วนต้องหยุดปฏิบัติภารกิจชั่วคราว วันนี้ยังเน้นใช้เครื่องจักรหนักเข้าถึงโซน B และโซน C ที่มีลักษณะคล้ายร่างกายมนุษย์ติดอยู่ในซาก ด้านทีม K9 ประกาศยุติภารกิจค้นหาผู้สูญหาย