อย.25 ส.ค.-รองเลขาธิการ อย.ย้ำสถานประกอบการเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เน้นจัดการให้คนปลอดภัย อาหารจึงจะปลอดภัย หลังมีข่าวเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ต่างๆว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 คาดว่าอาจติดมากับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมแนะผู้บริโภคไม่ควรรับประทานอาหารดิบเพราะเสี่ยงต่อการได้รับจุลินทรีย์ก่อโรค
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (เลขาธิการ อย.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ ว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 คาดว่าเชื้ออาจติดมากับสินค้านำเข้า เช่น อาหารแช่แข็ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ยังไม่มีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับเชื้อผ่านทางอาหารหรือบรรจุภัณฑ์ แต่มีผลการศึกษาที่พบว่าไวรัสชนิดนี้สามารถอยู่รอดบนพื้นผิวพลาสติกได้นานสูงสุด 72 ชั่วโมงและอยู่บนวัตถุที่มีความเย็น 4 องศาเซลเซียสได้นาน 28 วัน
ดังนั้น หลักการสำคัญในการจัดการความปลอดภัยอาหารของประเทศไทยในสภาวการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงมุ่งเน้นไปที่ “การจัดการให้คนปลอดภัย อาหารจึงจะปลอดภัย” ซึ่ง อย. ได้กำหนดให้สถานประกอบการผลิตอาหารเพิ่มมาตรการป้องกันโรคติดต่อโควิด-19 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร(GMP) อย่างเคร่งครัด
และสถานประกอบการนำเข้าต้องแสดงใบรับรองสถานที่ผลิตจากประเทศต้นทางที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 193 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร (GMP) หรือเทียบเท่า ณ ด่านที่นำเข้า เพื่อควบคุม กำกับ ดูแล รวมถึงเฝ้าระวังความปลอดภัยการผลิตอาหารในแต่ละขั้นตอน
ซึ่ง อย.มีการตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตและนำเข้าเป็นประจำทุกปี หากมีข้อมูลว่าอาหารที่นำเข้าอาจปนเปื้อนสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อย. จะตรวจสอบการนำเข้าอย่างเข้มงวด ในบางกรณีจะเรียกใบรับรองความปลอดภัยของสินค้าจากผู้ผลิตด้วย หากพบข้อบกพร่องจะให้บริษัทฯ เรียกคืนสินค้า และรายงานการดำเนินการต่อ อย. รวมทั้งอาจพิจารณามาตรการดำเนินการอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
รองเลขาธิการ อย.กล่าวด้วยว่า ในภาวะที่ยังคงพบการระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ ขอแนะนำผู้บริโภคไม่ควรรับประทานอาหารดิบ เพราะเสี่ยงต่อการได้รับจุลินทรีย์ก่อโรค ระหว่างการปรุงประกอบอาหารไม่ควรนำมือสัมผัสใบหน้า ดวงตา และควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ กรณีเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะบรรจุต้องมีการแสดงฉลาก เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน และข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ หรือหากสงสัยว่าบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่เลือกซื้อจะปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ภายนอกด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ และงดการสัมผัสด้วยมือเปล่า รวมถึงควรทำความสะอาดมืออีกครั้งหลังจากแกะบรรจุภัณฑ์ .-สำนักข่าวไทย