22 ม.ค.- “สมศักดิ์” ถกคณะกรรมการควบคุมโรคฯ รับมือ ฝุ่น PM 2.5 ชี้ เป็นครั้งแรกใช้กฎหมายควบคุมโรค เผย ยังไม่มีพื้นที่สีแดงที่ติดต่อกันระยะเวลาหนึ่ง ยังไม่เข้าเกณฑ์ชงครม. ให้ WFH แต่เปิดช่องให้ผู้ว่าฯ ชง อธิบดีควบคุมโรค ประกาศ WFH ตามมาตรา 35 ได้
วันที่ 22 มกราคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยมี นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม ที่กระทรวงสาธารณสุข
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ ได้พิจารณาเรื่องสำคัญ คือแนวทางปฎิบัติในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งที่ผ่านมา พระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดลล้อม พ.ศ.2562 ยังไม่เคยประกาศใช้ ดังนั้น ครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งแรก ที่จะมีการขอแนวทางกฎหมาย เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการ ต้องร่วมแรงร่วมใจ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศปลอดภัย
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การเสนอใช้กฎหมายควบคุมโรคฉบับนี้ เป็นไปตามมาตรา 14(2) ที่ระบุว่า “เสนอเขตพื้นที่ ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะต่อคณะรัฐมนตรี” และเป็นไปตามมาตรา 35 ที่ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเกิดหรือก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือ สุขภาพอนามัยของประชาชนในเขตพื้นที่ ให้อธิบดีกรมควบคุมโรค ฯ มีอำนาจประกาศเขตพื้นที่ ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพหรือโรคจากสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประกาศยกเลิกเมื่อมีเหตุอันสมควรหรือสภาวการณ์ของโรคนั้นสงบลง”
“โดยมาตรการภายหลังการประกาศเขตพื้นที่ควบคุมโรค 1.ผู้ว่าราชการจังหวัด สนับสนุนหน้ากากอนามัย แก่กลุ่มเปราะบาง ออกประกาศ WFH จัดทำศูนย์รองรับการอพยพ และขอความร่วมมือเกษตรกร 2.โรงพยาบาล จัดทำห้องปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องเด็กแรกคลอด ห้องพักหลังคลอด 3.พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ ใช้กลไกทางกฎหมาย ม.30 ม.31 และ ม.33 ในการแจ้ง การรายงาน และการสอบสวนโรคจากฝุ่น PM 2.5 “รมว.สาธารณสุข กล่าว
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า พระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดลล้อม พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้เดือนกันยายน 62 ซึ่งยังไม่เคยประกาศพื้นที่ WFH เลย ตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้มา คณะกรรมการฯ จึงได้ประชุมดูพื้นที่ เพราะในมาตรา 14(2) คณะกรรมการต้องดูพื้นที่ที่เข้าข่ายของ PM 2.5 มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. หรือ ในพื้นที่สีแดง ในระยะเวลาติดต่อกันช่วงหนึ่ง โดยในวันนี้ที่ดูแล้ว พื้นที่สีแดงที่ติดต่อกันระยะเวลาหนึ่ง มากกว่า 3 วัน ยังไม่มี ซึ่งมี PM 2.5 จริง แต่ยังไม่เกินระยะเวลาที่ควรเสนอพื้นที่ต่อคณะรัฐมนตรีได้ แต่ในการดำเนินการ ก็มีการประชุม เพื่อให้อธิบดีกรมควบคุมโรค สามารถใช้วิจารณญาณได้ เพราะในมาตรา 35 ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถขอมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ประกาศในกรณี WFH ได้ โดยรายละเอียดการประชุมวันนี้ ตนจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี รับทราบว่าเราพยายามใช้กฎหมายฉบับนี้
เมื่อถามว่า เรายังไม่จำเป็นต้อง WFH ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยัง เพราะว่า PM 2.5 ระดับยังไม่เกิน 75 มคก./ลบ.ม. ในระยะเวลายาว เมื่อถามต่อว่า ถ้าในสัปดาห์หน้า PM 2.5 สูงติดต่อกัน จะให้ประกาศได้เลยหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนต้องเสนอคณะรัฐมนตรี รับทราบก่อน เพราะในกรณีใช้มาตรา 35 ก็ไม่ต้องใช้การประกาศพื้นที่ก่อน อธิบดีฯสามารถใช้วิจารณญาณร่วมกับผู้ว่าฯได้
เมื่อถามว่า ต้องสูงเกิน 3 วันใช่หรือไม่ ถึงประกาศ WFH ได้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นแนวทางสิ่งที่เราควรประกาศ แต่ต้องขอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเกิน เมื่อถามต่อว่า เป็นการขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชนที่บอกว่าเกินมานานแล้ว นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ฝุ่นมีมานานแล้ว แต่ไม่เกิดขึ้นในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด. 418.-สำนักข่าวไทย