ตั้งทีมช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย กรณีขนย้ายกากแคดเมียม

กทม. 18 เม.ย.-สภาทนายความฯ ตั้งทีมให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย กรณีการขนย้ายกากแร่แคดเมียมจากหลุมฝังกลบที่ จ.ตาก พร้อมกำหนด 6 แนวทางช่วยเหลือด้านกฎหมาย ขณะนายกสภาฯ เผยคุยกับ รมว.ยุติธรรม รับจะให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบดำเนินคดีอาญา

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีและปฏิบัติการ นายขวัญชัย โชติพันธุ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรมและวิชาการ นางทัดดาว จตุรภากร กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม แถลงข่าว กรณีการขนย้ายกากแร่แคดเมียมจากหลุมฝังกลบที่จังหวัดตากไปยังพื้นที่ในเขต จ.สมุทรสาคร จ.ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร


ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า เกี่ยวกับกรณีกากแร่แคดเมียมที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้ สภาทนายความฯ เป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีนี้มาตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากได้รับข้อร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่ชาวบ้านกว่า 1,000 คนในพื้นที่ 3 ตำบล คือตำบลแม่กุ ตำบลแม่ตาว และตำบลพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่สังกะสี โดยผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรบนดอยผาแดง ซึ่งการทำเหมืองแร่สังกะสีจะมีกากแร่แคดเมียมเป็นผลพลอยได้และจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุอันตรายทั้งต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน สารแคดเมียมดังกล่าวได้ปนเปื้อนในพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะข้าว กระเทียม และถั่วเหลือง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านที่ต้องเจ็บป่วยจากพิษของสารแคดเมียม โดยสภาทนายความได้ยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชาวบ้านที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 คดี คดีส่วนใหญ่ถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ชาวบ้าน และมีจำนวน 3 คดีที่ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และจำนวนค่าเสียหาย และได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกเพื่อขอให้ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยศาลปกครองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันคดีถึงที่สุด

ส่วนกากแคดเมียม เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ประกอบการต้องมีมาตรการจัดการด้วยการฝังกลบตลอดไป ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการขุดหลุมฝังกลบกากแร่แคดเมียมในพื้นที่จังหวัดตาก และมีการขนย้ายจากสถานที่ฝังกลบต้นทางไปยังสถานที่ปลายทางต่างๆ นายกสภาทนายความ ยังเปิดเผยว่า แนวทางดำเนินการเรื่องนี้ ตนได้หารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม โดยได้รับแจ้งว่า การดำเนินการทางอาญา จะสั่งการให้ ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบ ส่วนคดีทางสิ่งแวดล้อม เรียกค่าเสียหายทางแพ่ง สภาทนายความจะไปช่วยเหลือด้านกฎหมาย และกำหนดการดำเนินการ 6 แนวทาง


1.จะแต่งตั้งคณะทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย กรณีประชาชน และชุมชนได้รับผลกระทบจากการขุดและส่งต่อกากแร่แคดเมียมจากบ่อฝังกลบของโรงงานถลุงแร่สังกะสีในจังหวัดตาก ไปยังสถานที่อื่น ๆ
2.จะดำเนินการเรียกร้องและดำเนินคดีตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมกับเจ้าของ หรือผู้ครอบครองมลพิษหรือแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น เจ้าของหรือผู้ครอบครองกากแคดเมียม เจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงงานถลุงแร่ เจ้าของหรือผู้ขนส่งกากแร่ เจ้าของหรือผู้รับกากของเสีย และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยต้องเยียวยาความเสียหายต่อสุขภาพ ร่างกายและจิตใจของประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
3.ดำเนินการเรียกร้องและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐที่อนุญาตให้ขนย้ายกากของเสียอันตรายจากบ่อฝังกลบภายในโรงงานถลุงแร่สังกะสี โดยไม่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยต้องชดใช้เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน
4.สภาทนายความฯ ขอเรียกร้องให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจเลือดและปัสสาวะประชาชน ชาวจังหวัดตาก และชุมชนที่อยู่รายรอบโรงงานถลุงแร่สังกะสี รวมถึงประชาชนในตำบลแม่กุ แม่ตาว พระธาตุผาแดง ที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของแคดเมียมจากการทำเหมืองแร่สังกะสีของผู้ประกอบการ (บริษัทผาแดง อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)) และพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดชลบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีการเก็บหรือครอบครองกากแคดเมียม และประชาชนหรือชุมชนอื่นที่มีการเก็บหรือครอบครองกากแคดเมียม

5.ขอเรียกร้องให้ภาครัฐให้ผลักดันและผ่านการออกกฎหมายเกี่ยวกับการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR – Pollutant Release and Transfer Register) เพื่อเป็นมาตรการให้ผู้ประกอบการต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตในโรงงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจนที่ต้องรายงานต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง มาบังคับใช้โดยเร็ว และขอให้ตรวจสอบบ่อดักตะกอนแคดเมียมในพื้นที่ทำเหมืองสังกะสี และบ่อฝังกลบกากตะกอนแคดเมียมในบ่อฝังกลบภายในโรงงานว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) และเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ

6.สภาทนายความเห็นว่า กากแคดเมียมที่เป็นกากของเสียอันตรายที่ตรวจพบในโรงงานต่างๆทั้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ต้องนำไปกำจัดหรือฝังกลบในโรงงานที่มีใบอนุญาตประเภท 101(โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม-Central Waste Treatment) (ฝังกลบกากของเสียอันตราย) เท่านั้น จะนำไปทำลายหรือฝังกลบที่อื่นไม่ได้ และเมื่อโรงงานถลุงแร่สังกะสีที่จังหวัดตากไม่ใช่โรงงานที่มีใบอนุญาตประเภท 101 (โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม -Central Waste Treatment -ฝังกลบกากของเสียอันตราย) จึงไม่สามารถนำกากแคดเมียมที่เป็นกากของเสียอันตรายกลับมาฝังกลบในโรงงานได้ เว้นแต่จะได้ใบอนุญาต 101 เสียก่อน แต่ใบอนุญาต 101 ก็ต้องทำรายงานอีไอเอ และได้รับการอนุมัติอนุญาตเสียก่อน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย


ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีและปฏิบัติการ กล่าวย้ำว่า ในประเด็นสุดท้ายนี้สำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องตอบคำถามว่าที่บอก ว่าจะนำกากแคดเมียมกลับไปฝังกลบที่เดิม ที่จ.ตากปลายทางไม่มีใบอนุญาต 101 ทำได้หรือไม่ที่จะนำไปฝังกลบที่เดิมและที่พื้นที่ต้นทางกากฝังกลบ ที่ จ.ตาก ตามรายงาน มี 1500 ไร่ มีหลุมฝังกลบ 7 บ่อ ขุดมาแล้ว 2 บ่อ จึงต้องไปตรวจสอบตามรายงาน ทำตามมาตรการป้องกันสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไร และที่เหลืออยู่มีการไปตรวจสอบหรือไม่ ว่ายังอยู่ครบ หรือมีการลักลอบขุดออกมาแล้ว เพราะตั้งข้อสังเกตมีมูลเหตุจูงใจในการพยายาม ขุดกากอันตรายขึ้นมา มองว่า อาจเพราะหากแคดเมียม หากหลอมแล้ว มีมูลค่าตันละกว่าแสนบาท จึงอาจเป็นแรงจูงใจ หากไม่กำกับให้ดี ก็จะเกิดเหตุแบบนี้อีก

นางทัดดาว จตุรภากร กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการติดตามสุขภาพประชาชน มีความกังวลเพราะมีการตรวจ 100% เฉพาะคนงาน แต่ประชาชนโดยรอบ ใช้การสุ่มตรวจ ในความเป็นจริงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงควรมีการตรวจทั้งหมด ยกตัวอย่างการจัดการด้านสุขภาพหลังสารพิษรั่วไหล ในประเทศญี่ปุ่นที่ มีการตรวจสุขภาพประชาชน ก็พบว่า ใช้เวลา 10 ปี กว่าประชาชนจะออกอาการให้เห็นจากการได้รับผลกระทบ จึงมองว่า รัฐไม่ใช่มาด่วนสรุป การตรวจไม่เจอตอนนี้ก็บอกว่าไม่พบอันตราย

ด้าน นายไพโรจน์ จำลองราษฎร์ รองประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีและปฏิบัติการ เปิดเผยว่า สภาที่นายความฯได้ลงพื้นที่ ตั้งแต่ ปี53 ก่อนมีการฟ้องร้อง ที่พบว่า ชาวบ้าน ใน 3 ตำบล ใน อ.แม่สอด มีอาการป่วย โดยไม่ทราบสาเหตุ และต่อมาก็มีการตรวจพบว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งมีสารแคดเมียมในร่างกาย จากการอาศัยในพื้นที่โดยรอบ
และแม้ต่อมา ปี 56 ศาลปกครองมีคำพิพากษา ให้ออกกฎกระทรวงกำหนด ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวอำเภอแม่สอดจังหวัดตากเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ภายใน90 วันนับ ตั้งแต่วันคดีถึงที่สุดนั้น
ผ่านมา10 ปี จนทุกวันนี้ พื้นที่ ลุ่มน้ำตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ยังไม่มีการพลิกฟื้นพื้นดินให้กับคืนสู่สภาพเดิม และมีการกำหนดให้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นที่ลุ่มให้ชาวบ้านปลูกอ้อย ซึ่งคนละวิถีชีวิตที่เคยทำ บางคนก็ยังต้องลักลอบปลูกข้าว จึงเรียกร้องให้รัฐจริงจังกับการพลิกฟื้นพื้นที่ให้กลับมามีสภาพดังเดิม เพราะชาวบ้านต้องทนทุกข์ต่อทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาพมานาน.-417.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เพลิงไหม้โรงอบลำไย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

เพลิงไหม้โรงงานอบลำไย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่เร่งนำรถดับเพลิงเข้าระงับเหตุ เพื่อควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้

พุ่งไม่หยุดราคาทองคำโลกนิวไฮอีก คาดไปต่อถึง 3 พันดอลลาร์/ออนซ์

ราคาทองคำตลาดโลกพุ่งแตะ 2,800 ดอลลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ นักวิเคราะห์คาดมีโอกาสพุ่งต่อถึง 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่งผลราคาทองไทยวันนี้ขึ้นต่อจากราคาปิดวานนี้ และทำนิวไฮเท่าวานนี้

ข่าวแนะนำ

ศึกชิงทำเนียบขาว 2024 : คอมมาลา แฮร์ริส

รายงานศึกชิงทำเนียบขาว 2024 พาไปรู้จักกับนางคอมมาลา แฮร์ริส ที่เพิ่งได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ไม่กี่เดือนก่อนเลือกตั้ง เปรียบเหมือนการเปลี่ยนม้าใหม่กลางศึก หากชนะได้เธอจะกลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐด้วย

เปิดโครงการ “เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต” ครั้งที่ 10

นายกฯ ควง “คุณหญิงพจมาน-ครอบครัว” นำ ครม.-ประชาชน ร่วมโครงการเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 10 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สาว อบต.ตกใจ ตำรวจตามรอยเงิน 39 ล้านบาท ที่แท้ชื่อซ้ำกัน

สาว อบต. ตกใจ ตำรวจมาถึงที่ทำงาน ถามถึงเงิน 39 ล้านบาท ที่แท้ชื่อซ้ำกัน ยันไม่เคยรู้จัก “มาดามอ้อย-ทนายตั้ม” มาก่อน