บมจ.อสมท 28 มี.ค. – มีข้อเสนอแนะจากเวทีเสวนา “บทบาทของกระบวนการยุติธรรม ต่ออาชญากรรมความรุนแรงที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ” ว่ารัฐต้องอาศัยภาคประชาชน ชุมชน แจ้งข่าวเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศต่อการท่องเที่ยว
ในการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 21 ที่สำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นมีเวทีเสวนาหัวข้อ “บทบาทของกระบวนการยุติธรรมต่ออาชญากรรมความรุนแรงที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ”
โดยศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสาเหตุของอาชญากรรมร้ายแรงและแนวทางการป้องกันและปราบปราม ว่าขึ้นอยู่กับหลายลักษณะ โดยสถิติอาชญากรรมในไทยถูกมองเรื่องมีการก่ออาชญากรรมทำร้ายร่างกายในระดับสูง แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการเยียวยาที่ดี แต่มีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับประเทศที่สามารถการันตีได้ว่าจะจับผู้ร้ายได้ภายในกี่ชั่วโมง หากเกิดเหตุ จึงเป็นสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมไทยต้องหาทางป้องกัน วางกลไกพิเศษ อาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชน ชุมชน และผู้บริหารต้องมีนโยบายชัดเจน เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม มีความร่วมมือกับต่างประเทศในการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งปัญหายาเสพติด และการค้ามนุษย์ เน้นการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปัจจุบันจับได้และฟ้องคดีเพียงร้อยละ 50 ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ส่วนความร่วมมือกับชุมชน ประเทศไทยเคยมีอาสาสมัครตำรวจท่องเที่ยวในพื้นที่พัทยา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่จะขยายสู่การร่วมกันป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่อื่น ๆ ได้
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของไทยเหมือนเหรียญ 2 ด้าน มีทั้งด้านมืดด้านสว่าง ด้านกลางวัน กลางคืน จากข้อมูลของสถาบันในสวิสฯ พบว่าประเทศไทยถูกจัดว่าเชื่อมโยงกับนานาชาติติดอันดับ 1 ใน 50 ซึ่งส่งผลทั้งภาพดีและภาพไม่ดีไปไกลถึงทั่วโลกได้เร็ว ในแง่ดีก็ส่งเสริมภาพลักษณ์ต่างๆ ของไทย แต่เมื่อมีอาชญากรรม จึงแก้ไขยาก กระบวนการยุติธรรมเหมือนล่าช้า ดังนั้นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงต้องสร้างเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยว ชุมชนธุรกิจ ขึ้นมาเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสโดยรัฐต้องให้ความสำคัญ และลงทุนกับสายข่าวหรือคนมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมรุนแรงที่จะมีผลต่อภาพลักษณ์ประเทศ
ขณะที่นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ มีแนวทางช่วยเหลือทั้งเหยื่อในคดีอาญา และผู้ก่อเหตุ ที่ได้เข้าถึงสิทธิในการสู้คดี โดยไทยนับเป็น 1 ใน 3 ของประเทศในอาเซียน ที่มีการจ่ายเยียวยาด้วยการให้เงินชดเชย อีก 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งไทยเยียวยาทั้งเหยื่อคนไทย และต่างชาติ ซึ่งครอบคลุมตามเกณฑ์มาตรฐานของยูเอ็น แต่ละปี มีการเยียวยา 10,000-13,000 ราย แต่แม้จะมีระบบเยียวยาที่ดีอย่างไร ก็เห็นด้วยกับแนวทางป้องกันโดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้เก็บข้อมูลพื้นที่ที่มีเหยื่ออาชญากรรมซ้ำๆ เช่น ซอยแจ้งวัฒนะ 14 มีเหตุข่มขืนเด็กบ่อยครั้ง ก็ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจป้องกันเหตุเพิ่มขึ้น.-119-สำนักข่าวไทย