กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – กทม. ทำงานเชิงรุกสู้ PM 2.5 เดินหน้าแคมเปญ “รถคันนี้ลดฝุ่น” ตั้งเป้าลดฝุ่น 15% ภายใน ก.พ. 67
นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค.67 มีการคาดการณ์ว่าค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีเหลืองและสีส้ม คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงเทพมหานครพร้อมดำเนินในทุกด้านเพื่อให้ลดปริมาณฝุ่นที่เกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ได้มากที่สุด และขอแจ้งเตือนประชาชนให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัยป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
โฆษก กทม. ยังกล่าวอีกว่า จากงานวิจัยพบว่าฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ส่งผลกระทบกับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นฝุ่นที่มีต้นกำเนิดจากทั้งภายในและภายนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ฝุ่นที่เกิดจากภานนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล 42% ฝุ่นที่เกิดจากการจราจร 22% ฝุ่นที่เกิดจากการเผาในที่โล่ง 16% ฝุ่นที่เกิดจากการโรงงานอุตสาหกรรม 15% ฝุ่นถนน 4% อื่น ๆ 1% ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งได้เปิดเผยถึงที่มาของฝุ่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้ รถยนต์ดีเซล 57% ฝุ่นทุติยภูมิ 16% เผาในที่โล่ง 15% รถยนต์เบนซิน 8% และอื่น ๆ 4%
สำหรับการเผาในที่โล่งแจ้ง กรุงเทพมหานครได้ติดตามจุด Hotspot โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ NASA ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง และ 7 วัน ย้อนหลังอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าเป็นห่วงในช่วงนี้คือ ช่วงต้นปีจะมีการเผาชีวมวลจากการเกษตรมากขึ้นทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือปริมณฑล โดยกรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบจุลินทรีย์พิเศษให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นสูตรพิเศษที่สามารถหมักชีวมวลได้รวดเร็วขึ้นจาก 30 วัน เหลือเพียง 7 วัน เพื่อให้ประชาชนลดจำนวนฟางข้าวที่ต้องเผาลงได้
ส่วนโครงการ “รถคันนี้ลดฝุ่น” หรือโครงการรณรงค์ให้ประชาชนเปลี่ยนไส้กรองอากาศและน้ำมันเครื่องยนต์ ปัจจุบันมีภาคีเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจาก 15 บริษัทรถยนต์และค่ายน้ำมันที่เข้าร่วมในช่วงแรก ปัจจุบันมีศูนย์ให้บริการรถยนต์เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น รวมถึงห้างสรรพสินค้ามีการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ให้กับรถ ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ และร่วมโครงการ เช่น ลดค่าบริการจอดรถในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมผลการดำเนินการและจำนวนรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในเบื้องต้นจากการรายงานข้อมูลจำนวนรถที่เข้าร่วมโครงการจาก 1 บริษัท พบว่ามีรถยนต์เข้าร่วมโครงการถึง 20,000 คัน ซึ่งถือว่าประชาชนให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยกรุงเทพมหานครจะเร่งรวบรวมผลการดำเนินการและรายงานผลให้ทราบทุกสัปดาห์ต่อไป ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566 ถึง 9 มกราคม 2567 มีรถเข้าร่วมโครงการเปลี่ยนไส้กรองแล้ว 41,488 คัน ช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้ 2% ซึ่งมีการตั้งเป้าเปลี่ยนไส้กรองรถจำนวน 300,000 คัน เพื่อช่วยลดฝุ่น PM2.5 จากภาคการจราจรได้ 15%
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ตรวจแหล่งกำหนดฝุ่น ยอดสะสมรวมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 -9 มกราคม 2567 ดังนี้ สถานประกอบการ/โรงงาน 348 แห่ง ตรวจสอบ 12,212 ครั้ง ไม่ผ่าน (สั่งให้ปรับปรุงแก้ไข) 8 แห่ง แพลนท์ปูน 120 แห่ง ตรวจสอบ 1,642 ครั้ง ไม่ผ่าน (สั่งให้ปรัมปรุงแก้ไข) 17 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 525 แห่ง ตรวจสอบ 4806 ครั้ง ไม่ผ่าน (สั่งให้ปรับปรุงแก้ไข) 34 แห่ง ถมดิน/ท่าทราย 23 แห่ง ตรวจสอบ 286 ครั้ง ตรวจควันดำในสถานที่ต้นทาง 3,090 คัน เกินค่ามาตรฐาน (สั่งให้ปรับปรุงแก้ไข) 19 คัน ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ 147,021 คัน ห้ามใช้ 2,282 คัน ตรวจรถโดยสารประจำทาง/ไม่ประจำทาง 38,028 คัน ห้ามใช้ 120 คัน และตรวจรถบรรทุก 97,429 คัน ห้ามใช้ 544 คัน
ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ ww.airbkk.com, www.pr-bangkok.com, เฟซบุ๊กเพจ : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เฟซบุ๊กเพจ : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม และเฟซบุ๊กเพจ : กรุงเทพมหานคร รวมถึง LINE ALERT และ LINE OA @airbangkok กรณีประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแสผ่านทาง Traffy Fondue ได้. -411-สำนักข่าวไทย