กรุงเทพฯ 9 พ.ย. – เหตุฝาบ่อร้อยสายไฟกลางถนนสุขุมวิททรุดตัว กลืนรถ 10 ล้อบรรทุกดินครึ่งคัน ล่าสุดเช้าวันนี้ (9 พ.ย.) เปิดการจราจรได้ตามปกติแล้ว ขณะที่ ผบช.น. สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตำรวจพื้นที่ปล่อยให้บรรทุกน้ำหนักเกิน-รับส่วยสติกเกอร์จริงหรือไม่
ความคืบหน้าเหตุฝาบ่อโครงการนำสายไฟลงดินของการไฟฟ้านครหลวง เกิดทรุดตัวกลางถนน บริเวณปากซอยสุขุมวิท 64/1 ทำให้รถ 10 ล้อบรรทุกดิน จมเกือบทั้งคัน เหตุเกิดตั้งแต่ช่วงเที่ยงวานนี้ (8 พ.ย.) เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุมาจากรถบรรทุกมีน้ำหนักเกิน ทำให้คานเหล็กด้านล่างแผ่นคอนกรีตหัก ส่งผลให้การจราจรบริเวณถนนสุขุมวิทและใกล้เคียงเป็นอัมพาตนานกว่า 7 ชั่วโมง
เมื่อคืนนี้ ตอน 5 ทุ่ม ตำรวจจราจร สน.พระโขนง เปิดการจราจรบริเวณที่เกิดเหตุ หลังผู้รับเหมาร้อยสายไฟใต้ดินของ กฟน. มาดำเนินการวางโครงเหล็กรับน้ำหนักที่หักงอ จนมั่นใจในความปลอดภัย จึงเปิดการจราจรตามปกติ สำหรับจุดเกิดเหตุจะมีรถหนาแน่นเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้า เพราะเป็นเส้นทางเข้าเมืองที่รับรถมาจากทางถนนบูรพาวิถี และถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นรถที่มาจากฝั่ง จ.สมุทรปราการ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของถนนสุขุมวิท มีหลุมบ่อที่ดำเนินการในลักษณะนี้หลายจุด โดยจุดที่เกิดเหตุ ผู้รับเหมาเพิ่งเปิดปากหลุม และลงไปทำงานเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นจึงปิดปากหลุมไว้ กระทั่งเกิดอุบัติเหตุ ส่วนรถคันเกิดเหตุล่าสุดตำรวจยึดเป็นของกลางไปไว้ที่ สน. และตักดินที่ตกลงไปในหลุมกลับคืนบนรถแล้ว เพื่อรอเวลานำไปชั่งน้ำหนัก เพื่อดูว่าบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่
ผู้ว่าฯ กทม. สั่งสำรวจไซต์งานก่อสร้าง บรรทุกเกินหรือไม่
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งการทุกสำนักงานเขตกวดขันสำรวจไซต์งานก่อสร้างว่ามีแนวโน้มรถบรรทุกเกินหรือไม่ พร้อมกำชับผู้รับเหมาทุกโครงการดูแลโครงสร้างชั่วคราวที่รับผิดชอบให้ดี ยอมรับว่า กทม. ไม่มีตาชั่งวัดน้ำหนักรถบรรทุกในเมือง แต่อนาคตจะต้องมี เผยกำลังเร่งศึกษาเทคโนโลยีมาใช้ตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ติดตั้งบนสะพาน ให้เป็นหลักฐานเอาผิดได้
ส่วนเรื่องส่วยสติกเกอร์ กทม. ไม่ได้ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะไม่ได้ดูเรื่องน้ำหนักรถ การจับกุมเป็นของตำรวจเป็นหลัก ขณะที่เทศกิจมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ความสะอาด คลุมผ้า มีดินร่วง ดินหล่น สกปรกหรือไม่ แต่หลังจากนี้คงจะต้องมี 3 ฝ่าย คือ กทม. ตำรวจ และทางหลวง ในการกวดขันร่วมกัน พร้อมย้ำว่าหลังจากนี้ต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะเกิดเหตุคล้ายคลึงติดกัน ทั้งบริเวณซอยสุขุมวิท 64/1 และบริเวณนราชปรารถขาออก บริเวณแยกมักกะสัน-จตุรทิศ
ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์ขนส่งแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า เหตุถนนทรุดที่สุขุมวิท มั่นใจว่ามีการจ่ายส่วยแน่ เพราะสี่แยกในกรุงเทพฯ มีจำนวนมาก และมีเจ้าหน้าที่อยู่ หากไม่ติดสติกเกอร์เช่นนี้จะต้องถูกเรียกตรวจและจอดตลอดเวลา จึงต้องมีการเคลียร์เพื่ออำนวยความสะดวก และเชื่อว่าต้องเคลียร์หลายจุด หลายหน่วยงาน แต่ตนพูดไม่ได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบกันเอาเอง เห็นว่าไม่ใช่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ที่เกิดเหตุที่ราชปรารภและเข้าใจว่าเป็นเจ้าของเดียวกันกับกรณีที่เกิดเหตุที่สุขุมวิท 64 และสิ่งที่เป็นห่วงคือ สะพานข้ามแม่น้ำต่างๆ ไม่มีด่านชั่งตรวจสอบเลย หากชำรุดหรือหากขึ้นมาเหมือนที่เกิดในต่างประเทศ อันตรายมาก ฝากวิงวอนไปยังประชาชนที่ต้องใช้รถใช้ถนนร่วมกับรถบรรทุกว่าจะต้องระมัดระวัง เพราะรถบรรทุกมีทักษะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
สั่งสอบ ตร.พื้นที่ปล่อยบรรทุกน้ำหนักเกิน-รับส่วยจริงหรือไม่
ล่าสุด พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. สั่งการให้ พ.ต.อ.วิทวัฒน์ ชินคำ รรท.ผบก.น.5 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุที่เกิดขึ้น หลังปรากฏข้อมูลว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุมีสติกเกอร์หน้ารถเป็นรูปดาว มีอักษรตัว B สีเขียว ทำให้สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับส่วยสติกเกอร์หรือไม่ พ.ต.อ.วิทวัฒน์ จึงลงนามคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ที่ 348/ 2566 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว มอบหมายให้ พ.ต.อ.ภพธร จิตติ์หมั่น รอง ผบก.น.5 เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้ดำเนินการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จใน 3 วัน.-สำนักข่าวไทย