กทม. 25 ส.ค.- เด็กไทย 1 ใน 4 พัฒนาการล่าช้า กระทบสมอง เสี่ยงซึมเศร้า ซ้ำ น้ำหนัก/ส่วนสูงไม่ถึงเกณฑ์ สสส. สานพลังภาคี ผุดนวัตกรรมคู่มือ “สามเหลี่ยมสมดุล : วิ่งเล่น กินดี นอนพอ” สร้างสุขภาพที่ดีแก่เยาวชน ขยายผลใช้ 43 โรงเรียนในสังกัด กทม. สช. กระทรวงมหาดไทย
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม กรุงเทพฯ นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2565 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กไทย 25% หรือ 1 ใน 4 มีพัฒนาการไม่สมวัย มีผลกระทบต่อสมอง ร่างกายผอม-อ้วนเกิน และจิตใจ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้เด็กมีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลง จากเดิม 24.4% ในปี 2562 เหลือ 17.7% ในปี 2565 หรือเทียบเท่าเด็กไทย 3 ใน 4 คนมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน พัฒนานวัตกรรม “สามเหลี่ยมสมดุล” คู่มือสำหรับดูแลเด็ก 6-12 ปี ทั้งในบ้านและโรงเรียน มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน 1.การนอนหลับ 2.การกิน 3.การเล่นหรือการขยับร่างกายที่เหมาะสม 3 สิ่งนี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และสุขภาพกายใจของเด็ก
“แคมเปญ “สามเหลี่ยมสมดุล” ได้นำไปใช้ขยายผล ผ่านการจัดกิจกรรมห้องเรียนสร้างเด็กสมดุลใน 4 ภูมิภาค พร้อมขยายผลใน 43 โรงเรียนทั่วประเทศ มีผู้ปกครอง คุณครูเข้าร่วมกิจกรรม 282 คน สำหรับในปี 2567 มุ่งส่งต่อแคมเปญสามเหลี่ยมสมดุลผ่านการจัดค่ายปิดเทอมเด็ก ห้องเรียนพ่อแม่ คาราวานสัญจรร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) รวมถึงโปรแกรมช่วยบันทึกพัฒนาการคุณหนู ผ่านแอปพลิเคชัน Persona Health ทั้งนี้ ติดตามสื่อการเรียนรู้และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่https://resourcecenter.thaihealth.or.th เฟซบุ๊กแฟนเพจ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) Line@เครือข่ายพันธมิตร และ www.childimpact.co” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
ดร.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า เด็กไทยอายุ 6-14 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึง 15.5% ในขณะที่ผอม 5.5% และเตี้ย 3.2% สาเหตุหลักเกิดจากพฤติกรรมด้านอาหารและโภชนาการที่ไม่พึงประสงค์ อาทิ กินผัก ผลไม้ไม่เพียงพอถึง 72% กินขนมกรุบกรอบมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ กว่า 50% และดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน 71.3% ซึ่งเกิดจากผู้ใหญ่ขาดเครื่องมือในการสร้างเด็กให้มีความฉลาดรอบรู้ด้านโภชนาการ และไม่ได้สร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเข้าถึงอาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ นวัตกรรม “สามเหลี่ยมสมดุล” เป็นการสร้างระบบและกลไกให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สู่บ้าน และชุมชน ช่วยให้เด็กเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า มิติด้านการเล่น จากการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมพบว่า เด็กและเยาวชนไทยกำลังเผชิญกับภาวะการขาดการเคลื่อนไหวร่างกายที่เพียงพอ แต่กลับมีพฤติกรรมการใช้หน้าจอและพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบัน โดยร้อยละของเด็กและเยาวชนไทยที่มีกิจกรรมทางกาย วิ่งเล่น ออกแรงเคลื่อนไหวที่เพียงพอ ปี 2565 ลดเหลือเพียง 16% น้อยกว่าในปี 2564 ที่อยู่ที่ 24% และใกล้เคียงกับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ที่อยู่ที่ร้อยละ 17% ขณะที่ร้อยละของเด็กและเยาวชนที่ใช้หน้าจออิเล็กทรอนิกส์ในวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิงไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ก็ลดลงจาก 26% มาอยู่ที่ 15% เท่านั้น สะท้อนว่าวิถีชีวิตเด็กและเยาวชนมีความไม่สมดุล และต้องการการสนับสนุนจากครอบครัว โรงเรียน และชุมชนอย่างใกล้ชิด
ดร.เจษฎา อานิล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กที่นอนน้อยกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน สมองจะมีพัฒนาการที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในบริเวณสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ สติปัญญา และสุขภาพจิต เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกันที่นอน 9 ชั่วโมงหรือมากกว่าต่อวัน นอกจากนี้ภาวะนอนน้อยในเด็กยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น พัฒนาการของเด็กนอกจากต้องกินดี มีประโยชน์ วิ่งเล่นอย่างเหมาะสมอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน การนอนให้พอ เป็นกุญแจสู่พัฒนาการที่ดี สร้างเด็กสมดุล .-สำนักข่าวไทย