กรุงเทพฯ 26 เม.ย. – กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนภัยโรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อน พร้อมแนะนำการดูแลและการป้องกัน หากมีอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงโรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อน แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มที่ 1 ผดร้อน เกิดจากเหงื่อที่ออกมากในช่วงที่อากาศร้อน ร่วมกับการกดทับหรือใส่เสื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศ ทำให้เกิดผื่นสีแดงที่มีอาการคัน อาการแสบได้ แนะนำให้พบแพทย์
กลุ่มที่ 2 ฝ้าและกระ เกิดจากแสงแดดไปกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้น ทำให้โรคในกลุ่มฝ้า กระ มีสีที่เข้มขึ้นได้ในช่วงหน้าร้อน กลุ่มที่ 3 กลุ่มติดเชื้อราต่างๆ อากาศร้อน ส่งผลให้เหงื่อออกเยอะ ทำให้ผิวหนังมีความอับชื้น เกิดการติดเชื้อราซ้ำซ้อน ทำให้เกิดโรคผิวหนังตามมา บริเวณที่พบบ่อย เช่น บริเวณรักแร้ ซอกพับ หรือง่ามมือ ง่ามเท้า ซึ่งพบได้บ่อยและเกิดได้ในทุกช่วงวัย
แพทย์หญิงประภาวรรณ เชาวะวณิช รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวว่าหากมีอาการผิดปกติ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงโดยที่ไม่ได้ป้องกัน 2.การทากันแดดอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เพียงพอ คือประมาณสองข้อนิ้ว และหมั่นทาซ้ำบ่อยๆ ทุกๆ 2 ชั่วโมง 3.ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวก ร่ม 4.ถ้ามีผื่นหรือความผิดปกติใดๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง.-สำนักข่าวไทย