สงขลา 18 พ.ย.- เกษตรกรชาวตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พลิกฟื้นพันธุ์ ‘ส้มจุกจะนะ’ พืชเศรษฐกิจเฉพาะถิ่น ให้กลับมาเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากลูกค้าในพื้นที่และต่างจังหวัด ยอดสั่งจองทะลุข้ามปี
นายดนกอนี เหลาะหมาน วัย 53 ปี เกษตรกรชาวตำบลป่าชิง ปลูกส้มจุกจะนะพันธุ์พื้นเมืองบนเนื้อที่รวม 7 ไร่ กว่า 400 ต้น และทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบสุดท้าย ส่งออกจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่สั่งจองไว้ ซึ่งสวนส้มจุกแห่งนี้เป็นสวนที่ปราศจากสารเคมี ดูแลโดยวิธีธรรมชาติและได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ส่งจำหน่ายในราคาสูง โดยคุณภาพเกรด A จะจำหน่ายในกิโลกรัมละ 200 บาท เกรด B 180 บาท และเกรด C 150 บาท
นายดนกอนี เล่าว่าความตั้งใจที่จะพลิกฟื้นส้มจุกจะนะพันธุ์พื้นเมือง โดยในปี 2544 ได้เริ่มขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งและเพาะขยายพันธุ์มาเรื่อยๆ จากนั้นได้ทดลองปลูกเริ่มแรก 50 ต้น แต่ระยะแรกผลผลิตออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เริ่มท้อใจ เนื่องจากส้มจุกเป็นพืชที่ดูแลยากกว่าส้มชนิดอื่น หากไม่สนใจ จะได้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ แต่ด้วยใจรักในการทำสวนส้มจุกและต้องการอนุรักษ์ผลไม้ประจำถิ่นเอาไว้ ทำให้สวนส้มจุกแห่งนี้ไม่ได้ถูกปรับพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นทดแทน
จนปี 2560 ส้มจุกจะนะ เริ่มได้รับความนิยม มีกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด ผลผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย ถึงขั้นต้องสั่งจองล่วงหน้า และนอกจากจะจำหน่ายผลสุกแล้ว ยังจำหน่ายกิ่งพันธุ์ส้มจุกพื้นเมือง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไม่ให้สูญหาย และให้ผู้ที่สนใจสามารถนำไปขยายพันธุ์ต่อ
ส้มจุกจะนะมีลักษณะที่แตกต่างจากส้มพันธุ์ทั่วๆ ไปคือ บริเวณขั้วของผลจะมีเปลือกนูนสูงคล้ายจุก จึงถูกเรียกว่าส้มจุก ด้วยรสชาติที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ผิวส้มมีกลิ่นหอม รสหวานอมเปรี้ยว ไม่หวานจัด และได้รับฉายาว่าเป็น “ส้มหอมหมื่นลี้” ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกส้มจุกกว่า 50 ราย พื้นที่กว่า 100 ไร่ มีการรวมตัวในลักษณะแปลงใหญ่ส้มจุกจะนะ ซึ่งมีสมาชิกที่ให้ผลผลิตแล้วจำนวน 32 ราย.-สำนักข่าวไทย