สุรินทร์ 1 เม.ย.- รู้จักไหม? “ตุมกุย” ผลไม้หากินยาก 1 ปีถึงจะได้กิน ของดีจากป่าลึก ขายดีเกินคาด งานนี้ลูกค้าเเห่ซื้อเพียบ
ที่ตลาดริมทางข้างป่าสนสองใบ ถนนเส้นสุรินทร์-สังขะ ตำบลทับทัน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ช่วงนี้จะพบกับผลไม้ป่าที่วางขายเหลืองอร่ามอยู่ตรงหน้า ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า “ตุมกุย” หรือ ลูกยาง แต่หลายพื้นที่อาจจะเรียกไม่เหมือนกัน โดยตุมกุย หรือ ลูกยาง จะมีให้เห็นไม่บ่อยนัก เพราะ 1 ปีจะออกลูกให้ได้กินแค่ครั้งเดียว รสชาติของลูกที่สุกจัด จะมีความหวานนำเปรี้ยวเปลือกเป็นสีเหลืองอมส้ม
ชาวบ้านได้นำ ตุมกุย มาวางขายในตลาด “ป่าสนคนสองใบ” โดยลูกค้าที่มาซื้อนั้นจะมีตั้งแต่คนในจังหวัด และรวมไปถึงคนที่ขับรถผ่านถนนเส้นนี้ที่มาจากต่างจังหวัดซื้อไปเป็นของฝาก ตุมกุย ขายดีชนิดที่ว่าหาเก็บแทบไม่ทัน


นางลำจวน แม่ค้าตุมกุย เล่าว่าผลไม้นี้ภาษาเขมรสุรินทร์ เรียกว่า “ตุมกุย” ภาษาไทยเรียกว่า ลูกยาง แต่กว่าจะได้มาขายแต่ละลูก ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเดินเท้าเข้าป่าที่สำคัญต้นของ “ตุมกุย” นั้นอยู่สูง เป็นมีลักษณะเถาวัลย์ เกาะกับต้นไม้สูงๆ ก็ต้องขึ้นปีนเก็บที่ละลูกๆ กว่าจะได้นำมาขาย แต่ก็คุ้มค่าเพราะในแต่ละวัน คนแห่มาซื้อทั้งวันอย่างไม่ขาดสายขายแทบไม่ทัน แต่ละวันจะเก็บได้ประมาณ 1 ตะกร้า หนักประมาณ 10 กิโลกรัม นำมาใส่ถุง และมัดแขวนขาย โดยขายมัดละ 50 บาท หรือถุงละ 50 บาท แต่ละวันที่หามาได้ใส่ถุงได้ 20 ถุงขึ้นไป ราคาก็พันกว่าบาทต่อวัน ถือว่าเป็นช่วงกอบโกยรายได้จากการขายผลไม้ป่ายุคโควิด-19.-สำนักข่าวไทย