เชียงใหม่ 21ก.พ. – ป.ป.ช.ภาค 5 แถลงผลการดำเนินงาน หลังมีมติชี้มูลและคดีที่ศาลมีคำพิพากษาในปีงบประมาณ 2564-2565 พบมีการทุจริตถึง 16 คดี
นายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ภาค 5 พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดในพื้นที่ภาค 5 แถลงผลการดำเนินงานที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลและคดีที่ศาลมีคำพิพากษา ในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 โดยพบว่าสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 5 มี 2 คดี และ 8 จังหวัดภาคเหนือ พบว่าเชียงใหม่ มี 2 คดี เชียงราย 2 คดี น่าน 2 คดี แม่ฮ่องสอน 1 คดี แพร่ 1 คดี ลำปาง 2 คดี ลำพูน 2 คดี และพะเยา 2 คดี
สำหรับคดีที่น่าสนใจ เป็นคดีที่ ป.ป.ช. ภาค 5 กล่าวหานางรัตนา จงสุทธานามณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายกับพวกกรณีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษา ห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ในสถานศึกษา เขต 36 ขององค์การบริหารจังหวัดเชียงราย วงเงินงบประมาณกว่า 34 ล้านบาท จากการไต่สวนพบมูลความผิดว่ามีการกำหนดลักษณะครุภัณฑ์ที่ป็นการกีดกันการแข่งขันราคาเอื้อผู้ประกอบการบางรายและยังกำหนดราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น รวมทั้งปรากฏพฤติการณ์สมยอมในการเสนอราคา นอกจากนี้ ยังมีเจตนาตั้งงบประมาณไม่ให้เกิน 5 ล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติว่านางรัตนา มีความผิดทางอาญา มาตรา 151 และ 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 และ 12 ร่วมกับพวกและผู้ถูกกล่าวหา ตามฐานความผิด ปัจจุบันคดีนี้อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทุกรายตามรายงานและการไต่สวนแล้ว
อีกคดีที่น่าสนใจเป็นกรณีกล่าวหานายพิทูร วิเศษศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่พบทุจริตเลือกรับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายเดือนละ 31,800 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 7 มกราคม 2557 เป็นเวลากว่า 2 ปี แทนการจัดหารถประจำตำแหน่งผู้บริหารแต่นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติว่านายพิทูร ผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดทางอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และตามตามระเบียบข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 โดย ป.ป.ช.ได้ส่งคำวินนิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด ดำเนินคดีอาญาในศาลแล้ว
นายสุพจน์ กล่าวว่า การทุจริตที่พบมากคือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ปัจจุบันพบการทุจริตมีการบุกรุกทรัพยากรและมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้น จึงได้เน้นการดำเนินการป้องกันเชิงรุก เพื่อให้คำแนะนำและป้องกันการทุจริต รวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ที่อาจมิชอบด้วยกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย