ขอนแก่น 10 ต.ค.- นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น สร้างเรือพลังลม เพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม หลังพบปัญหาเรือไม่เพียงพอ และเรือทั่วไปเข้าถึงพื้นที่ที่มีวัชพืชได้ยาก
นายปัญญา นาใจแก้ว, นายชาญณรงค์ เทียมสอน และนายศราวุฒิ ดวงชาพรม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น นำเรือพลังลมที่ร่วมกันออกแบบและสร้างขึ้น นำมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่บ้านโนนตุ่น ถนนกลางเมือง ต.เมืองเก่า อ.เมืองขอนแก่น จุดที่มวลน้ำจากลำน้ำชีหลากเข้าท่วมเมื่อ 3 วันก่อน เป็นเรือขนาดเล็ก ไม่เกิน 3 ที่นั่ง รวมคนขับ โครงเรือทำจากเหล็ก กาบเรือทำจากไฟเบอร์กลาส ขนาดความยาว 4 เมตร กว้าง 2 เมตร ความสูงจากท้องเรือถึงขอบเรือด้านบน 0.5 เมตร ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 185 hp ใช้ใบพัดพารามอเตอร์แบบ 4 ใบพัด ขนาด 1.5 เมตร เพื่อเป็นต้นกำลังสร้างแรงผลัก ส่งกำลังด้วยสายพาน ใช้หางเสือเป็นตัวควบคุมทิศทางเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา สามารถรองรับน้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 400 กิโลกรัม มีรัศมีวงเลี้ยวไม่เกิน 10 เมตร ใช้ระยะหยุดเรือไม่เกิน 20 เมตร ทำความเร็วสูงสุด 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนสาเหตุที่คิดเรือนี้ขึ้น เพราะเป็นโปรเจกต์ก่อนจบการศึกษา ซึ่งทางคณะให้สร้างนวัตกรรมตามที่ชอบ แต่ต้องสามารถนำไปใช้งานได้จริง ตนและเพื่อนจึงอยากสร้างเรือ โดยมีแรงบันดาลใจจากสถานการณ์น้ำท่วมปีที่แล้ว ที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการเข้าช่วยเหลือล่าช้า เพราะเรือไม่สามารถเข้าไปถึงได้ เนื่องจากข้อจำกัดและความไม่สม่ำเสมอของระดับน้ำ ทำให้เมื่อน้ำตื้น เรือยนต์ทั่วไปที่ใช้ใบจักรขับน้ำไม่สามารถใช้งานได้ ขณะที่ใช้คนเดินลากเรือก็ล่าช้า บางเส้นทางมีขยะ วัชพืชกีดขวางเรือ เรือพลังลมจึงตอบโจทย์การใช้งานได้เป็นอย่างดี สามารถเคลื่อนที่ในน้ำตื้นตั้งแต่ 30 ซม.ได้ และเคลื่อนที่ผ่านสภาพน้ำมีสิ่งกีดขวางได้ เช่น ผักตบชวา วัชพืชน้ำและสวะในน้ำ.-สำนักข่าวไทย